
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังหารือร่วมกับ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อติดตามความคืบหน้าคดีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พังถล่ม ว่า ได้พูดคุยในรายละเอียดทุกอย่างแล้ว ต้องขอให้ทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มเติมมากกว่านี้ เพราะยังมีเรื่องของเอกสาร และหลักฐานสำคัญที่ขอความร่วมมือไป แต่ได้รับความร่วมมือค่อนข้างช้า เรื่องนี้รอไม่ได้
ทั้งนี้ ต้องหาหลักฐานและเอกสารให้ครบ เพื่อจะหาคนที่รับผิดชอบต่อผู้ที่เสียชีวิตไปจำนวนมาก ดังนั้นจำเป็นต้องขอความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็น เอกสารทั้งหมดจาก สตง. รวมถึงการรายงานผลจากคณะกรรมการตรวจสอบฯ ว่ามีการผิดสัญญา แต่ไม่มีการยกเลิกสัญญาในเวลาที่กำหนดตั้งแต่เดือน ม.ค.68 ซึ่งมีการร้องขอให้ยกเลิกสัญญา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขอดูเอกสารเพิ่มเติม
โดยจะติดตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา และกรมทรัพยากรธรณี เกี่ยวกับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวว่ากรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบมากกว่าปกติหรือไม่ จนส่งผลให้ตึก สตง.ถล่ม ซึ่งเป็นเอกสารที่ยังต้องขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน และจะขอความร่วมมือจากกรมบัญชีกลาง ที่เป็นหน่วยงานควบคุมมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้าง ดูคุณภาพวัสดุก่อสร้าง เพื่อจะชี้วัดและมีอำนาจในการบอกเลิกสัญญา
รวมถึงกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่เป็นหน่วยงานร่วมตรวจรับการออกแบบก่อสร้าง และตรวจรับงาน ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องกับความเสียหายครั้งนี้ต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับตำรวจ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการตรวจสอบของกรมโยธาธิการและผังเมือง ควรจะแยกออกจากกระบวนการสืบสวนด้วย เพื่อไม่ให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสืบสวนตรงนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า DSI กำลังดำเนินคดีเรื่องคุณภาพของเหล็ก และปูนซีเมนต์ที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการแก้ไขแบบ Core wall และคอปล่องลิฟต์ ที่เป็นจุดศูนย์กลางของตึก แต่ไม่มีการเสริมเหล็ก ทำให้เกิดความเสี่ยงในอาคาร รวมถึงต้องตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการฮั้วประมูลด้วย โดยจะย้ำเรื่องนี้ในคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
"ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า เรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้ปล่อยมือ ส่วนตัวรับเรื่องนี้ไม่ได้ กับการที่มีคนเสียชีวิตไปด้วยเหตุผลที่มีตึกถล่มเพียงหนึ่งตึก แต่ก็เข้าใจได้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมียนมา ที่เกิดแผ่นดินไหวทั้งหมดและมีขนาดรุนแรง ห้ามไม่ได้ แต่มีเพียง 1 ตึก ซึ่งดิฉันติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจัง" น.ส.แพทองธาร กล่าว
- จ่อออกหมายจับ "ผู้เกี่ยวข้อง" เหตุตึก สตง.ถล่ม
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่เคยให้สัมภาษณ์ไปว่า 90 วัน จะทำเรื่องของโมเดลที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปสาเหตุตึกถล่มออกมาให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงจุดนี้จะหาเหตุผลโดยละเอียดว่า เกิดจากสาเหตุลม แรงสั่นสะเทือน หรือเป็นวัสดุที่ทำให้ตึกถล่มลงมา ซึ่งเป็นเหตุผลเชิงลึก แต่ระหว่างนี้การดำเนินงานต่างๆ ถูกต้องแล้วหรือยัง
ส่วนจะสรุปเรื่องใดต้องรอทางตำรวจและ DSI ที่จะช่วยหาหลักฐานให้มีความชัดเจนก่อน คงจะพูดไปก่อนไม่ได้ เพราะเสี่ยงจะถูกฟ้อง ดังนั้นต้องรอ แต่อีกไม่นานนี้จะมีการออกหมายจับ โดยกำชับตำรวจหากมีหลักฐานเพียงพอก็สามารถออกหมายจับได้ ซึ่งอีกไม่นานจะมีการเริ่มออกหมายจับ
กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่ให้ความร่วมมือในการส่งข้อมูลเอกสารนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือไม่เต็มที่ ก็ต้องถูกตั้งข้อสังเกตอยู่แล้ว จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือให้เต็มที่ เพื่อที่จะไม่เป็นข้อครหาของประชาชน โดยการดำเนินคดีจะทำไปตามหลักฐานที่มี และได้ย้ำกับตำรวจให้ทำอย่างเต็มที่และจริงจัง รวมถึงจะต้องดูข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับการเซ็นรับด้วย
ส่วนการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ของหน่วยงานรัฐนั้น เรื่องนี้ควรเกิดขึ้นกับทุกตึก ไม่ใช่แค่ตึกของรัฐเท่านั้น ทุกตึกต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่เข้าไปอยู่ในนั้นทุกวัน แต่เมื่อเกิดปัญหาก็เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินคดี ต้องตรวจสอบ และทำให้ชัดเจน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เท่าที่ได้รับรายงาน มีเรื่องการปลอมแปลงลายเซ็น ซึ่งต้องตรวจสอบกันต่อไปว่าปลอมแปลงจริงหรือไม่ ส่วน สตง. จะต้องรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหนนั้น ต้องขอดูหลักฐานเป็นรายกรณีไป ซึ่งต้องดูรายชื่อของคณะกรรมการในแต่ละส่วน จะไม่เหมารวมทั้งหมด และยอมรับว่ามีหลักฐานการปรับแก้ตัวปล่องลิฟท์ให้บางลงตามที่สื่อรายงาน
"เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีคนผิดเลย มีบางจุดที่ผิดไปจากทุกตึก ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้นที่บอกว่าจะไม่มีคนรับผิดชอบเรื่องนี้ คงเป็นไปได้ยากมาก" น.ส.แพทองธาร กล่าว
นายกรัฐมนตรียังได้โพสต์เรื่องดังกล่าวผ่านทางสื่อโซเชียล โดยยืนยันว่า รัฐบาลจะดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด
"เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะทำงานอย่างไม่ปล่อยมือเช่นกัน ถึงแม้จะได้ให้เวลาสอบสวนอีก 90 วัน เพื่อให้ 4 สถาบัน และกรมโยธาฯ ได้ทำโมเดล ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการสอบสวนเท่านั้น แต่ในระหว่างที่กระบวนการสืบสวนดำเนินไป ดิฉันได้เชิญทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ DSI เข้ามารายงานความคืบหน้า โดยเฉพาะหลักฐานที่แต่ละส่วนได้รวบรวมไว้ เพื่อเร่งดำเนินการให้คดีนี้มีความคืบหน้าในการหาผู้กระทำความผิด" น.ส.แพทองธาร ระบุ
โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะรับผิดชอบตรวจสอบสาเหตุที่ตึกถล่ม ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา เพื่อหาผู้รับผิดชอบ โดยจะตรวจสอบตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้าง เอกสาร/สัญญา การแก้ไขแบบงานโครงสร้าง กระบวนการตรวจรับงาน วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ และอื่น ๆ ส่วน DSI จะรับผิดชอบตรวจสอบ 3 เรื่องหลัก ๆ คือ การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว, การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) และการควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
ทั้งหมดนี้มีเอกสารที่ค่อนข้างชัดเจน คาดว่าน่าจะมีการดำเนินคดีได้ภายในเร็ว ๆ นี้ ดังนั้นขอให้หน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะจากทาง สตง. ,กรมโยธาฯ กรมอุตุฯ และหน่วยงานอื่นๆ เร่งรัดการส่งเอกสารที่ยังขาดอยู่ เข้ามาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบโดยเร็ว นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จากกรมโยธาฯ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจรับงาน การตรวจแบบก่อสร้างของอาคารสตง. ขอให้แยกออกจากกระบวนการสืบสวนหาข้อเท็จจริงด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
สิ่งสำคัญที่สุด คือ การพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคล โดยขอให้ทุกฝ่ายดำเนินการด้วยความระมัดระวัง และรอบคอบ และรายงานข้อมูลกลับไปยังครอบครัวผู้ประสบเหตุ และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อทุกครอบครัวที่สูญเสีย
"ดิฉันอยากให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่า เรื่องนี้จะไม่มีการปล่อยมือ ไม่มีการปกปิดใด ๆ ทุกหลักฐานจะถูกพิจารณาอย่างละเอียด และนำไปใช้ดำเนินคดีอย่างยุติธรรมโปร่งใสแน่นอน" น.ส.แพทองธาร กล่าว
