
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รายงานผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมระหว่างวันที่ ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 834,632 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 474 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 455 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 19 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 166 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 51 เรื่อง
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกดีอี กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้น ๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องของภัยพิบัติ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความตื่นตระหนก เข้าใจผิด สับสน และวิตกกังวลได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องโครงการของรัฐบาล และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่
อันดับที่ 1 : เรื่อง เตรียมรับมือภูเขาไฟระเบิด 5 แห่ง ในประเทศไทย
อันดับที่ 2 : เรื่อง เลขหลุดสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 16 เม.ย. 68
อันดับที่ 3 : เรื่อง วันที่ 11 เม.ย. 68 อสม. อสส. เตรียมรับเงินเพิ่มคนละ 2,000 บาท
อันดับที่ 4 : เรื่อง เตือนภัย! เสี่ยงสึนามิ 15, 17 และ 24-25 ก.ค. 68
อันดับที่ 5 : เรื่อง Carthisin เสริมความแข็งแรงให้กับกระดูกและข้อต่อ บรรเทาความรุนแรงของโรคกระดูก
อันดับที่ 6 : เรื่อง ผลิตภัณฑ์ Paratinol ทำลายปรสิตในร่างกาย ทำความสะอาดเลือด น้ำเหลือง และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ HPV ในมนุษย์
อันดับที่ 7 : เรื่อง อสม. จะถูกยกเลิก เพื่อนำเงินมาสนับสนุนโครงการผู้สูงอายุ
อันดับที่ 8 : เรื่อง Sanderma ช่วยแก้ปัญหาโรคสะเก็ดเงิน ลมพิษ ผื่นคัน โรคผิวหนังต่าง ๆ
อันดับที่ 9 : เรื่อง ด่วน! รัฐบาลให้เวลา 1 สัปดาห์ ยกเลิกธนบัตร 1,000 บาท
อันดับที่ 10 : เรื่อง ลูกชาวพม่าและเขมร สามารถเรียนหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหารไทยได้
อันดับ 1 เรื่อง "เตรียมรับมือภูเขาไฟระเบิด 5 แห่ง ในประเทศไทย" กระทรวงดีอี โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า ตามที่มีคลิปกล่าวถึงการเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิด ที่จังหวัด ราชบุรี, ขอนแก่น, สุโขทัย, กาฬสินธุ์, บุรีรัมย์ นั้น ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นข่าวปลอม เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีภูเขาไฟมีพลัง (Active Volcano) ที่จะทำให้เกิดการระเบิดได้ โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อและติดตามข้อมูลข่าวสารจากช่องทางทางการเท่านั้น
อันดับ 2 เรื่อง "เลขหลุดสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 16 เม.ย. 68" กระทรวงดีอี ได้ประสานงานตรวจสอบร่วมกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กระทรวงการคลัง พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า ข่าวที่มีการเผยแพร่นั้นเป็นข่าวปลอม โดยการออกรางวัลของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐาน ISO 9001:2015 ที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทุกขั้นตอน และไม่มีผู้ใดสามารถทราบผลรางวัลล่วงหน้าได้ หรือกำหนดผลสลากกินแบ่งรัฐบาลล่วงหน้าได้ จึงขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพที่ส่งจดหมายหลอกลวงหรือแอบอ้างผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย
