
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีการเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯ หลังจากที่สินค้าไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นในอัตรา 36% ซึ่งเป็นมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ที่สหรัฐฯ ใช้กับประเทศคู่ค่ารายสำคัญ ว่า ขณะนี้ข้อมูลในหลักการเบื้องต้นพร้อมหมดแล้ว โดยจะเดินทางไปเจรจาในเวลาที่เหมาะสม เพื่อทำให้การเจรจาเกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย แม้การเจรจาจะเป็นแค่กรอบ แต่จะเป็นกรอบที่เห็นร่วมกันว่าเป็นการแก้ปัญหาที่สามารถปฏิบัติร่วมกันได้อย่างแน่นอน
ส่วนการยื่นข้อเสนอภาษี 0% ให้กับสหรัฐฯ นั้น รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าวว่า ไม่ใช่คำตอบ เพราะโจทย์สำคัญในขณะนี้ คือ สหรัฐฯ มีการนำเข้าสินค้ามากเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ปัจจุบันขาดดุลการค้าปีละ ราว 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งไทยเห็นโจทย์ในส่วนนี้แล้ว
"ถ้ารีบไป โดยที่เราไม่รู้โจทย์ ก็ไม่รู้จะไปเสนออะไร ดังนั้นวิธีการส่งสัญญาณง่าย ๆ เบื้องต้น อาจจะต้องหารือกับระดับปฏิบัติการก่อน โดยอาจจะหารือกับสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมด ก็อาจจะเห็น และทำให้เราพอรู้ว่าอะไรจะสามารถตอบโจทย์ที่สหรัฐฯ ต้องการ และอะไรจะตอบโจทย์กับประเทศไทยด้วย" นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย ระบุว่า ในกรณีเลวร้าย หากการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ และเศรษฐกิจโลกเกิดวิกฤติ ประเทศไทยจะต้องเตรียมแผน 2 ไว้เพื่อรองรับ และเป็นทางเลือกสำหรับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรง โดยสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ คือ การปรับโครงสร้างประเทศ ด้วยการปรับเพดานหนี้สาธารณะ เพื่อเปิดช่องให้เกิดการลงทุน เพราะใน 20 ปีที่ผ่านมา ไทยไม่มีการลงทุนในประเทศเลย
หรือบางจังหวะอาจจำเป็นที่จะต้องมีการเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ยืนยันว่าตรงนี้ไม่ได้ทำเป็นนิสัย จะไม่ใช่การแจกเงินไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีความจำเป็นอย่างแน่นอน
"เพดานหนี้สาธารณะ จะ 60% 70% หรือ 80% จะมีหนี้เท่าไร ตรงไหนจะเรียกว่าหนี้เยอะ แต่เรามีปัญญาคืน ก็เรียกว่าหนี้ไม่เยอะ คำว่ามีปัญญาคืน หมายถึง หนี้ของรัฐบาลที่ลงทุนไปแล้ว สร้างระบบเศรษฐกิจที่ดี ทำให้มีผลตอบแทนกลับมา ทำให้เรามีความสามารถในการคืนหนี้ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ว่า การก่อหนี้ที่เกินไปนั้น ได้ลงไปในสิ่งที่พึงกระทำหรือไม่ ซึ่งปัจจุบัน 60% ของหนี้รัฐบาลเป็นหนี้ที่กู้ในประเทศ ส่วนหนี้ต่างประเทศมีเพียง 1% กว่าเท่านั้น แปลว่าเศรษฐกิจไทยเรามีเงินหมุนเพียงพอ การกู้ตรงนี้ก็เหมือนพ่อยืมลูก เมื่อเศรษฐกิจดี พ่อก็นำเงินไปคืนลูก ตรงนี้ปกติ แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ กู้จนลูกหมดตัว แล้วไปกู้ต่างประเทศต่อ พอถึงเวลาเราไม่มีคืน ก็จะเหมือนกับประเทศในอเมริกาใต้หลาย ๆ แห่ง ที่หนี้สาธารณะสูงเกินระดับ 100%
รองนายกฯ และรมว.คลัง ยอมรับว่าวิกฤติครั้งนี้ใหญ่กว่าโควิด-19 เพราะไม่สามารถประเมินได้ว่าสงครามการค้าโลกครั้งนี้ จะเกิดอะไรขึ้น แม้ว่าอาจจะพอเดาได้ลาง ๆ แต่วิกฤติครั้งนี้ไม่ได้เกิดแค่ไทยกับสหรัฐฯ หรือเวียดนามกับสหรัฐฯ เท่านั้น แต่อาจจะมีอีกหลายคู่ เพราะเวลาที่ทั่วโลกมีปัญหา ทุกคนมีโจทย์เดียวกันทั้งหมด ดังนั้นแต่ละประเทศก็จะต่างคนต่างป้องกันตัวเอง ก็อาจจะกระทบกับประเทศไทยได้ในมิติต่าง ๆ
"มีการประเมินว่า ปัจจัยเสี่ยงในเรื่องนี้ หากไม่ได้รับการแก้ไข จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกให้หายไป 3% ส่วนเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะส่งผลให้ตัวเลขจีดีพีหายไป 1-1.5%" นายพิชัย ระบุ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ระบุว่า การขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกา กลายเป็น New Normal ของการค้าโลก ดังนั้นต้องอยู่และปรับตัวให้ได้ ซึ่งรัฐบาลเองก็จะช่วยสร้างกลไกในการปรับตัวให้เอกชน โดยขณะนี้ได้เตรียมวงเงินไว้ 5,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เพื่อช่วยเหลือบริษัทที่ส่งออก-นำเข้าไปยังสหรัฐ เป็นการให้วงเงินสินเชื่อ เพื่อให้เอกชนผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และจะมีมาตรการอื่นตามมา โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบ และส่วนอื่นที่รัฐบาลต้องดำเนินต่อ
รมช.คลัง ยอมรับว่า การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ส่วนเป้าหมายจะอยู่ที่เดิมหรือไม่นั้น คงไม่สามารถให้คำตอบได้ ส่วนที่มีการประเมินว่า GDP ปีนี้จะเหลือโตแค่ 1-2% นั้น ก็ยังเป็นตัวเลขที่เชื่อถือไม่ได้ เพราะแม้แต่กระทรวงการคลังเองยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน เนื่องจากสมมติฐานยังไม่ครบ
"ต้องดูผลจากการเจรจาก่อน แต่ยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หากเศรษฐกิจจะชะลอ ก็ต้องมีกลไกเข้ามา" นายจุลพันธ์ ระบุ