
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนมี.ค.68 อยู่ที่ 56.7 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าจากนโยบาย Trump 2.0 ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทย และทั่วโลกปรับตัวลดลง แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้า
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 50.5, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 54.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 65.4 ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นฯ ทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เช่นกัน

โดยปัจจัยลบสำคัญที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมี.ค.นี้ ได้แก่ ความกังวลต่อแนวนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ และการตอบโต้ของประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย Trump 2.0, ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า รายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ, ความกังวลต่อเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา ซึ่งทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคเหนือได้รับความเสียหาย, ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่า สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ, ปัญหา PM2.5 และความกังวลภาวะภัยแล้งที่จะกระทบต่อการใช้น้ำในภาคเกษตร, อุตสาหกรรม และครัวเรือน
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวก ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้นหลังการยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยว, การส่งออกเดือนก.พ.ขยายตัวถึง 14%, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง, ราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังมีสัญญาณลดลงต่อเนื่องได้ การเห็นภาพเศรษฐกิจชะลอตัวลง ยังมีความเป็นไปได้สูง และการฟื้นตัวยังเป็นไปอย่างช้า ๆ ดังนั้นการที่รัฐบาลจะไปเจรจาต่อรองเรื่องภาษีกับสหรัฐ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก แนวคิดในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ก็มีความจำเป็นเช่นกัน การใช้เงินงบประมาณของรัฐบาล ควรทำให้เกิดการจ้างงานที่มากขึ้น มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานผ่านการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ ขณะเดียวกัน นโยบายการเงินอาจเข้ามาช่วยเสริมได้ ในแนวทางอัตราดอกเบี้ยขาลง ซึ่งจะช่วยเสริมภาวะเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวลงมาก
"ต้องดูจังหวะและเวลาว่า ธปท.จะดำเนินการอย่างไร เพราะตอนนี้ สถานการณ์ที่สหรัฐขึ้นกำแพงภาษีสูง เริ่มคลายตัวลงแล้ว จากที่มีการผ่อนผันล่าสุด 90 วัน ดังนั้น ความจำเป็นเร่งด่วนของการลดดอกเบี้ยของไทย อาจไม่จำเป็นต้องลดเร่งด่วนภายในรอบการประชุมสิ้นเดือนนี้ (30 เม.ย.) หรือใน 1-2 เดือนนี้ แต่ถ้ามีความจำเป็นเมื่อไร ก็จะต้องรองรับและสอดคล้องกับนโยบายการคลังด้วย" นายธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ ในการสำรวจความเห็นของผู้บริโภคในเดือน มี.ค.นี้ ยังไม่รวมกรณีการประกาศขึ้นภาษีตอบโต้สินค้านำเข้าจากไทย 36% (ประกาศ 4 เม.ย.) ซึ่งล่าสุด (9 เม.ย.) เหตุการณ์ยังพลิกกลับมาอีกว่าสหรัฐ มีระยะเวลาผ่อนคลายให้ 90 วัน กับทุกประเทศที่มาตรการภาษีสหรัฐฯ ยังไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งผลจากความคิดเห็นของผู้บริโภคที่รวมสถานการณ์ภาษีตอบโต้ของสหรัฐทั้งหมด น่าจะออกมาในช่วงการทำสำรวจของเดือนเม.ย.
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ลดลงเป็นเดือนแรก ซึ่งเป็นผลกระทบจากความกังวลว่าจะมีการเก็บภาษี แต่ยังไม่ใช่ผลกระทบจากการเก็บภาษี เพราะยังไม่ได้เริ่มเก็บจริง ดังนั้นดัชนีหอการค้าฯ หลายภาค กลาง ตะวันออก ใต้ ผูกพันสูงกับการค้าระหว่างประเทศ และเป็นฐานสำคัญของสินค้าส่งออกหลักสำคัญไปยังเวทีโลก จึงทำให้มีความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจ และสงครามการค้าเป็นลำดับต้น ๆ
"ในช่วง 2 เดือน ที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงนี้ ยังไม่ได้เป็นอาการที่ชี้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการใช้จ่ายช่วงสงกรานต์อาจยังคึกคักระดับเดิม แต่สถานการณ์พ.ค. มิ.ย.อาจซึมตัว เรายังคาดปีนี้เศรษฐกิจมีโอกาสโตต่ำกว่า 2%" นายธนวรรธน์ ระบุ
ทั้งนี้ ภายหลังจากทรัมป์ประกาศผ่อนผันการเก็บภาษีตอบโต้ออกไปอีก 90 วัน เท่ากับตอนนี้ไทยยังเจอภาษี 10% ไม่ใช่ 36% ดังนั้นทุกประเทศยังเจอเท่ากันที่ 10% สถานการณ์การค้าโลกขณะนี้ อยู่ในช่วงที่ทุกประเทศมีความระมัดระวัง ไม่ได้ปรับตัวลงหรือทรุดตัวแรง และต้องดูสถานการณ์ของจีนด้วย เพราะถูกเก็บภาษีถึง 125% ซึ่งการตอบโต้กันไปมานี้ จะทำให้เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะงักงันหรือไม่ ดังนั้น การเฝ้าสังเกตสถานการณ์ในช่วง 3 เดือนนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญว่าไทยจะสามารถเจรจาได้คืบหน้าอย่างไร และสถานการณ์ทั้งโลกจะเจอกำแพงภาษีสูงแค่ไหน
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ขณะนี้อาจยังเร็วเกินไป ที่จะประเมินผลกระทบและความเสียหายของเศรษฐกิจไทย จากมาตรการภาษีของสหรัฐ เพราะต้องประเมินสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ว่าจะยืดเยื้อบานปลาย หรือมีการตอบโต้ที่รุนแรงหรือไม่ หรือทั้ง 2 ประเทศจะปรับท่าทีแล้วหันมาเจรจากัน ซึ่งต้องติดตามในช่วง 1-3 เดือนจากนี้ อีกทั้งประเทศคู่ค้าของสหรัฐ 60 ประเทศ จะมีการเจรจาต่อรองกับสหรัฐได้มากน้อยเพียงใด ต้องดูว่าสหรัฐจะลดภาษีให้ทั้ง 60 ประเทศเท่ากันหรือไม่ หรือขึ้นอยู่กับการต่อรองของประเทศต่าง ๆ เอง เพราะอัตราภาษีที่ทั้ง 60 ประเทศถูกสหรัฐเรียกเก็บนี้ มีผลต่อ GDP ของโลกค่อนข้างสูงมาก ในสัดส่วนรวมกันถึง 80%
ผลกระทบช่วง 90 วันที่ขยายไปนั้น ถ้ายืนภาษีได้ที่ 10% ความเสียหายจะอยู่ที่ประมาณ 1-1.5 แสนลบ. ผลให้เศรษฐกิจไทยโตน้อยลง 0.7-0.9% ซึ่งตอนนี้ เรายังไม่ประเมิน เพราะเชื่อว่าในช่วง 1-3 เดือนนี้ (ระยะเวลาผ่อนผัน) ยังไม่มีสถานการณ์ที่เป็นที่สิ้นสุดว่าจะมีเหตุการณ์อะไร และความผันผวนของข้อมูลข่าวสารยังผันผวนต่อเนื่อง ขึ้นกับว่าสหรัฐฯ จะทำอะไร" นายธนวรรธน์ กล่าว
โดยมองว่า สหรัฐฯ มี 3 แนวทางที่จะเลือกใช้ คือ
1. สหรัฐฯ ตั้งใจตั้งกำแพงภาษีไปก่อน แล้วค่อยปรับลดในภายหลัง หลังจากที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มขอเจรจาต่อรอง ดังนั้นการขึ้นกำแพงภาษีในอัตราสูงจากหลายประเทศทั่วโลก อาจไม่เกิดขึ้นจริง หากมีการเข้ามาเจรจากับสหรัฐ รวมทั้งไทยว่าจะเจรจาได้ดีในระดับใด ซึ่งโอกาสที่ไทยจะถูกเก็บภาษีเพียง 10% ก็มีความเป็นไปได้สูง
2. กรณีที่คนในสหรัฐเอง รวมทั้งฝั่งยุโรป ออกมาคัดค้านการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐ ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็มีความห่วงใยและมองว่าไม่เป็นผลดี เพราะการที่หลายประเทศทั่วโลกถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราสูงจะยิ่งส่งผลให้เงินเฟ้อสหรัฐสูงขึ้นอย่างถาวร แรงกดนี้อาจทำให้สหรัฐฯ เปลี่ยนใจ และกลับไปใช้แนวทางเดิมในการเก็บภาษีที่ระดับ 10-15%
3. ทีมผู้บริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เริ่มออกมาแสดงความห่วงใยต่อการดำเนินนโยบายกำแพงภาษีที่แข็งกร้าวนี้ เพราะอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งการบริหารประเทศเพียงปีแรก แล้วมีสัญญาณที่จะทำให้เศรษฐกิจถดถอย ย่อมไม่ส่งผลดีต่อทีมบริหารของทรัมป์ และส่งผลต่อฐานเสียงทางการเมือง
"การที่ทรัมป์ ตัดสินใจเลื่อนการขึ้นภาษีออกไปอีก 90 วัน น่าจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจโลก เพราะหลายประเทศมีโอกาสได้เจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับสหรัฐ ทำให้ภาพที่เศรษฐกิจโลกจะโตน้อยลง เริ่มมีโอกาสลดลง และการที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำ ก็จะมีโอกาสลดลงเช่นกัน ขึ้นกับว่าทีมไทยแลนด์จะเจรจาได้ผลอย่างไร ซึ่ง 5 แนวทางที่รัฐบาลออกมานี้ เป็นแนวทางที่หอการค้าไทยสนับสนุน" นายธนวรรธน์ ระบุ