ไทย จ่อเสนอนำเข้าก๊าซอีเทน-LNG จากสหรัฐเพิ่มจับมือ PTT บินเจรจาสัปดาห์หน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 16, 2025 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแนวทางดำเนินการของไทย ต่อกรณีนโยบายการค้าของสหรัฐ ว่า จากการหารือกับ บมจ. ปตท. (PTT) ในเบื้องต้นถึงแผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ เพิ่มเติมอีก 1 ล้านตันเศษภายในระยะเวลา 5 ปี มูลค่าราว 600 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นส่วนที่ใกล้จะหมดสัญญาซื้อขายจากแหล่งอื่น ๆ ซึ่งในส่วนนี้ไทยจะพิจารณานำเข้าจากสหรัฐฯ แทน

ขณะเดียวกัน จะไปย้ำว่าปัจจุบันไทยได้มีการทำสัญญาซื้อขายก๊าซ LNG จากสหรัฐฯ อยู่แล้วปีละ 1 ล้านตัน มูลค่าปีละ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ระยะเวลา 15 ปี ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีปริมาณนำเข้าก๊าซ LNG ค่อนข้างมาก เฉลี่ยปีละกว่า 10 ล้านตัน ซึ่งเป็นการจัดหาจากหลายแหล่ง เช่น ตะวันออกกลาง โดยในระยะยาวประเทศไทยยังมีความต้องการใช้และต้องการนำเข้าเพิ่มอีก ดังนั้น เป็นโอกาสดีที่จะมาพิจารณาการนำเข้าจากสหรัฐเพิ่มเติม ซึ่งเชื่อว่า ปตท.จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดหาก๊าซ LNG ในระยะยาวของประเทศไทยได้

"แผนการจัดหา LNG จากสหรัฐฯ นั้นน่าจะเริ่มจัดส่งได้ในปี 2569 และมีแผนใหม่จากสัญญาซื้อขายที่กำลังจะหมดลง ตรงนี้จะเป็นเรื่องที่เราจะนำไปหารือกับทางสหรัฐฯ เพื่อเป็นการคอนเฟิร์มว่าไทยจะซื้อ LNG จากสหรัฐฯ แน่นอน ซึ่งการนำเข้าทั้งหมดนี้ สอดคล้องกับแผนงานของ ปตท. อยู่แล้วด้วย เรามองว่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตหลักของโลก ได้มีการลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมในการส่งออกอยู่แล้ว ซึ่งก็คาดว่าจะมีข้อดีในแง่ของต้นทุนราคา ซึ่งสามารถสู้ที่อื่นได้" นายพิชัย กล่าว

ขณะเดียวกัน ในระยะข้างหน้าไทยวางแผนว่า หากมีการนำเข้าก๊าซ LNG จำนวนมาก และเมื่อเพียงพอใช้ภายในประเทศแล้ว ก็อาจจะนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายต่อให้กับประเทศในภูมิภาคใกล้เคียงได้ เนื่องจาก ปตท. เองมีพื้นที่จัดเก็บจำนวนมาก และพร้อมที่จะนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายต่อได้ เนื่องจากเชื่อมั่นว่าก๊าซธรรมชาติจะยังเป็นเชื้อเพลิงหลักของโลกต่อไปอีก 30 ปีข้างหน้า ดังนั้นจึงมองว่าไทยจะสามารถดำเนินการนำเข้าก๊าซ LNG จากสหรัฐฯ เพิ่มเติมได้

"มี 3 ส่วนแล้ว คือ 1.ซื้อปีหน้าแน่ 2.ซื้อในส่วนที่มีโอกาสหมดใน 5 ปีข้างหน้า และ 3.สิ่งที่คิดอยู่ เราจะเป็นผู้นำเข้า ไม่ใช้ผู้ใช้เอง แล้วมาขายในภูมิภาคนี้ ก็มีส่วนที่เราจะจัดซื้อมากขึ้น เพราะถึงอย่างไร ก๊าซธรรมชาติยังเป็นเชื้อเพลิงหลักของโลกใบนี้ 30 ปีข้างหน้า" นายพิชัย ระบุ

พร้อมกันนี้ จะไปหารือถึงแผนการที่ไทยจะนำเข้าก๊าซอีเทนจากสหรัฐฯ ปริมาณ 4 แสนตัน มูลค่า 100 ล้านเหรียญ ในระยะเวลา 4 ปี ถือเป็นการซื้อขายระยะยาว ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นความจำเป็นสำหรับประเทศไทย เนื่องจากก๊าซอีเทน เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปิโตรเคมี และถือเป็นต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าการใช้น้ำมันดิบ ที่แม้ปัจจุบันจะสามารถผลิตได้ในอ่าวไทย แต่ก็ไม่ค่อยเพียงพอแล้ว

"เบื้องต้น จะมีการหารือเรื่องนำเข้าอีเทนจากสหรัฐฯ ภายใน 4 ปี ปริมาณ 4 แสนตัน มูลค่า 100 ล้านเหรียญ และทาง ปตท.จะเดินทางไปพูดคุยด้วย" รองนายกฯ และรมว.คลัง ระบุ

* ยันนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ จะไม่ให้กระทบเกษตรกรในประเทศ

ส่วนการนำเข้าสินค้าเกษตรนั้น นายพิชัย ยืนยันว่า รัฐบาลจะพิจารณานำเข้าในส่วนที่ไม่กระทบกับเกษตรกรไทย โดยเฉพาะข้าวโพด ซึ่งปัจจุบันไทยต้องมีการนำเข้าปีละ 4 ล้านกว่าตัน ขณะที่สหรัฐฯ ถือว่าเป็นผู้ผลิตหลัก ทำให้จะมีต้นทุนที่ถูกกว่าการนำเข้าจากแหล่งอื่น โดยเป้าหมายคือการนำเข้ามาแปรรูปเพื่อส่งออก เช่น อาหารสัตว์ ที่ประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาดที่ดี

"เรื่อง Tariff นั้น หลักการคือต้องทำให้มีความเสมอภาค เราต้องมาดูว่าเราจะนำเข้าอะไรได้บ้าง ดูให้ทุกส่วนสอดคล้องกัน ซึ่งการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็จะต้องไม่กระทบกับตลาด แต่จะช่วยให้ขนาดเศรษฐกิจเราใหญ่ขึ้น คือนำเข้ามาเพื่อส่งออกให้ได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อเรามีการนำเข้ามากขึ้น สัดส่วนการได้เปรียบทางการค้าของเราก็จะลดลง เชื่อว่าเรื่องนี้สหรัฐฯ จะเข้าใจเป็นอย่างดี เขาจึงใช้เรื่องดุลการค้า มาเป็นเกณฑ์วัดว่าใครได้เปรียบเท่าไร ส่วนเรื่อง Non Tariff ก็ต้องมาดู เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น" นายพิชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี สำหรับกำหนดการหารือกับผู้แทนสหรัฐฯ ที่ชัดเจนนั้น นายพิชัย กล่าวว่า เรื่องวันที่ชัดเจนจะขอคอนเฟิร์มอีกครั้ง

"เผอิญว่า วันจันทร์ที่ 21 เม.ย. เป็นวันอีสเตอร์ของสหรัฐฯ เขาก็คงไม่คุยเรื่องนี้ ก็ต้องดูให้ชัดเจนอีกที แต่คาดว่าน่าจะเป็นช่วงสัปดาห์หน้า ส่วนการเดินทางก็เลือกเอา จะเดินทางพรุ่งนี้ก็ได้ แต่ถ้าหากเขาขยับไปอีก 1 วัน ผมก็สามารถเลื่อนได้นิดหน่อย" รองนายกฯ และรมว.คลังระบุ

* เลิกแนวคิดนำเข้าสุกร อาจเปลี่ยนเป็นเครื่องในวัว

ส่วนแนวคิดเรื่องการนำเข้าสุกรนั้น นายพิชัย ยืนยันว่าขณะนี้คงจะไม่ดำเนินการ เพราะหลังจากได้พิจารณากันแล้ว พบว่าไทยยังไม่ขาดแคลน หรือยังไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าสุกร

ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในส่วนของการนำเข้าสุกร และเครื่องในสุกรจากสหรัฐฯ ยังไม่มีแนวคิดในตอนนี้ แต่มีแนวคิดเจรจาการนำเข้าเครื่องในวัว เพื่อมาผลิตอาหารสัตว์ แล้วส่งออกกลับไปขาย เพราะมีความต้องการจากผู้ผลิตภายในประเทศ โดยยังเป็นแนวคิดเบื้องต้น ดังนั้นจึงต้องมีการหารือในรายละเอียดกับส่วนที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ