
อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ สานต่อเจตนารมณ์ความยั่งยืนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (ESG) ปีที่ 2 ผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น "1 ปี 1 ภาค" ล่าสุดขยายสู่ภาคเหนือโดยร่วมมือกับหมู่บ้านวัฒนธรรมงานไม้แกะสลักบ้านกิ่วแลน้อย จ.เชียงใหม่ สร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์คอลเลกชัน 'เคียงตั๋ว' ที่ผสานหัตถศิลป์ล้านนากับการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์เทรนด์ Eco-Friendly Furniture ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
นางสาวกฤษชนก ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าด้านความยั่งยืน (ESG) ในทุกมิติภายใต้แนวคิด "Sustainable Living for Future Lifestyle" โดยปีนี้ได้พัฒนาคอลเลกชัน 'เคียงตั๋ว' ซึ่งไม่เพียงสืบสานหัตถศิลป์ไม้แกะสลักล้านนาที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาเกือบ 60 ปี แต่ยังเน้นมิติด้านสิ่งแวดล้อมผ่านการเลือกใช้ไม้อย่างรู้คุณค่า

"เฟอร์นิเจอร์คอลเลกชัน 'เคียงตั๋ว' ใช้ไม้ยางพาราที่ไม่สามารถผลิตน้ำยางได้แล้วมาเป็นโครงสร้างหลัก ส่วนงานแกะสลักใช้ไม้สักเก่าเหลือใช้จากชุมชนมาประสานเป็นชิ้นเดียวกัน นำกลับมาใช้ใหม่อย่างสร้างสรรค์ สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม" นางสาวกฤษชนกกล่าว
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ครั้งนี้นับเป็นการตอบรับกระแสรักษ์โลกที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโรงแรมที่หันมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจาก Krungthai COMPASS ที่คาดการณ์ว่าตลาด Eco-Friendly Furniture ทั่วโลกจะมีมูลค่ากว่า 81.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2573 เติบโตเฉลี่ย 8.0% ต่อปี (ปี 2566-2573) เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปี 2566

คอลเลกชัน 'เคียงตั๋ว' ได้รับแรงบันดาลใจจากจิตวิญญาณและวัฒนธรรมล้านนา โดยนำลวดลายช้าง สัตว์คู่บ้านชาวเหนือ และดอกพุดตาลเอกลักษณ์งานแกะสลักไม้ของชุมชน มาผสานกับเทคนิคการเซาะร่องไม้รูปทรงเรขาคณิตสามเหลี่ยม สร้างเป็นเฟอร์นิเจอร์สไตล์ Lannavian ที่ผสมผสานความเป็นล้านนากับสแกนดิเนเวียนได้อย่างลงตัว ประกอบด้วย 4 ชิ้น ได้แก่ ตู้ไซน์บอร์ด, ชั้นวางของ, ชุดโต๊ะกลาง+โต๊ะข้าง และอาร์มแชร์
คุณแม่อำพร ศรีหาตา ผู้นำชุมชนแกะสลักไม้บ้านกิ่วแลน้อย กล่าวว่า "ถือเป็นครั้งแรกที่ชุมชนได้นำงานแกะสลักมาพัฒนาเป็นเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการผลิตเชิงอุตสาหกรรม การร่วมงานกับอินเด็กซ์ฯ ไม่เพียงสร้างรายได้และพัฒนาศักยภาพให้ช่างฝีมือในชุมชน แต่ยังเป็นช่องทางเผยแพร่วัฒนธรรมล้านนาสู่สายตาผู้คนในวงกว้าง ที่สำคัญคือการให้คุณค่ากับวัสดุเหลือใช้ โดยนำไม้สักเก่ามาสร้างสรรค์งานศิลปะใหม่ ช่วยลดการตัดไม้และรักษาสิ่งแวดล้อม"