Decrypto: การผลักดันไทยสู่ฮับคาร์บอนเครดิตอาเซียน (Part 2): ตลาดทุนไทยกับการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy)

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 21, 2025 11:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

Decrypto: การผลักดันไทยสู่ฮับคาร์บอนเครดิตอาเซียน (Part 2): ตลาดทุนไทยกับการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy)

นอกจากด้านตลาดทุนและเทคโนโลยีดิจิทัล ภาครัฐไทยยังเดินหน้าผลักดันกฎหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างกรอบนโยบายและกลไกรองรับการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศอย่างเป็นระบบ

ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ. Climate Change) เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริมการดำเนินงานและกำหนดนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทั้งในการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบ อีกทั้งสนับสนุนให้เกิดกลไกทางการเงินในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่มีความเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศในระยะยาว นับเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประเทศอย่างยั่งยืน

หลังจากได้รับความเห็นชอบจาก กนภ. แล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขั้นต่อไป โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ) คาดว่าจะสามารถเสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือนเมษายน 2568 นี้ (ข้อมูลจาก เว็ปไซต์สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวันที่ 26 มีนาคม 2568)

และได้มีการเตรียมความพร้อมด้านองค์ประกอบต่าง ๆ ของร่างกฎหมายควบคู่ไปด้วย เช่น การประสานกับกรมบัญชีกลางเพื่อจัดตั้ง กองทุนภูมิอากาศ (Climate Fund) ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน ที่จะรองรับการลงทุนด้านการลดและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของไทยที่มุ่งเน้นเรื่องโลกร้อนโดยตรง ซึ่งจะแสดงถึงความมุ่งมั่นของไทยในการร่วมมือกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังยิ่งขึ้น


*ตลาดทุนไทยกับการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy)

ตลาดทุนไทย มีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนการพัฒนา "เศรษฐกิจสีเขียว" ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยทำหน้าที่เป็นกลไกระดมทุนให้กับโครงการที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการระดมทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมหลากหลายรูปแบบ อาทิ การออกพันธบัตรสีเขียว (Green Bond) เพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด รวมถึงพันธบัตรเพื่อสังคมและความยั่งยืนประเภทต่าง ๆ

มาตรการเหล่านี้สอดรับกับแนวนโยบายของภาครัฐที่มุ่งเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในฝั่งของตลาดทุนและหลักทรัพย์ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ออกเกณฑ์ส่งเสริมการระดมทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืน เช่น เกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond), ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond), ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้ที่ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงเกณฑ์การออกและเสนอขาย โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนหรือการใช้ประโยชน์โดยให้คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในทำนองเดียวกับตราสารหนี้ดังกล่าว

สำหรับตลาดคาร์บอนเครดิตนั้น ที่ผ่านมาอยู่ในรูปแบบ "ภาคสมัครใจ" (Voluntary Carbon Market) ซึ่งหน่วยงานอย่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้ดำเนินโครงการ T-VER เพื่อรับรองปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกให้ภาคเอกชนและเปิดให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านระบบของ อบก.

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของตลาดทุนอย่างศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้กำกับของ ก.ล.ต. จะช่วยเปิดโอกาสในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ดึงดูดผู้เล่นรายใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศเข้ามาร่วมตลาด และอาจนำไปสู่การพัฒนาระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่เป็นมาตรฐานกลางของประเทศ ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจ BCG ในระยะยาว


*ไทยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางตลาดคาร์บอนเครดิตอาเซียน

การขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดคาร์บอนเครดิตดิจิทัล การปรับปรุงกฎระเบียบสินทรัพย์ดิจิทัล การพัฒนากฎหมายโลกร้อน หรือการสนับสนุนจากตลาดทุน ล้วนมุ่งสู่เป้าหมายสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

ยุทธศาสตร์นี้สอดคล้องกับทิศทางของนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ไทยเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจสีเขียวในภูมิภาค พร้อมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโลกไปสู่ความยั่งยืน ด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่แข็งแกร่งของไทย ประกอบกับ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน และการสนับสนุนเชิงนโยบายที่ชัดเจน ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะดึงดูดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ เข้ามาสู่ตลาดไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะไม่เพียงสร้างความคึกคักให้ตลาดทุนไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยลดต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกในภูมิภาคโดยรวม และสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

การดำเนินงานเชิงรุกทั้งด้านตลาดทุน กฎหมาย และเทคโนโลยีในวันนี้ จึงเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นที่จะวางรากฐานให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น "ฮับคาร์บอนเครดิต" แห่งภูมิภาคอาเซียน นำพาประเทศไทยไปสู่อนาคตของเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืนและแข่งขันได้ในเวทีโลก

ดุษดี ดุษฎีพาณิชย์

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการค้า การลงทุน และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ