CONSENSUS: CPF Q1/68 กำไรอู้ฟู่ ราคาหมูไทย-เวียดนามขึ้นต่อเนื่อง ต้นทุนลดลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 21, 2025 15:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

CONSENSUS: CPF Q1/68 กำไรอู้ฟู่ ราคาหมูไทย-เวียดนามขึ้นต่อเนื่อง ต้นทุนลดลง

โบรกเกอร์ประสานเสียงเชียร์"ซื้อ"หุ้น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร [CPF] คาดกำไรสุทธิในไตรมาส 1/68 ในช่วง 6,233-7,265 ล้านบาท โตทะยาน 441-531% YoY และ 49-74% QoQ ตอบรับราคาเนื้อหมูในไทยและเวียดนามถีบตัวสูงขึ้นหลังเกิดโรคระบาด ASF แม้ราคาหมูในจีนกลับลดลงจากดีมานด์หดตัว ขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพดและกากถั่วเหลืองลดลง

แนวโน้มกำไรในไตรมาส 2/68 ยังเติบโตได้ต่อเนื่องจากปัจจัยดังกล่าว

ส่วนนโยบายการค้าของสหรัฐนั้น CPF แทบจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรง เพราะมีการส่งออกไปตลาดสหรัฐเพียง 0.3% ส่วนใหญ่จะเป็นการขายตลาดในประเทศที่เข้าไปลงทุน อย่างไรก็ดี ผลกระทบทางอ้อมมาจากภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงทั่วโลกอาจทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง

ปิดตลาดเช้านี้ ราคาหุ้น CPF มาอยู่ที่ 25.25 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)

ทิสโก้ ซื้อ 31.00

พาย ซื้อ 30.60

หยวนต้า ซื้อ 30.00

ฟิลลิป ซื้อ 29.50

กสิกรไทย outperform 28.40

ทรีนีตี้ ซื้อ 28.00

กรุงศรี ซื้อ 27.40

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี ประเมินผลประกอบการ CPF ในไตรมาส 1/68 คาดกำไร 6,553 ล้านบาท เติบโต 518% Y0Y และโต 54% QoQ แนะนำ"ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 27.40 บาท

แนวโน้มผลประกอบการของ CPF ในไตรมาส 1/68 สดใสจากราคาหมูในไทยและเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 68 จนถึงปัจจุบัน โดยราคาหมูในไทย YTD เพิ่มขึ้น 18%YoY ราคาเฉลี่ยที่ 83 บาท/กก.จากราคาเฉลี่ยปีก่อน 69.89 บาท/กก. และในเวียดนาม เพิ่มขึ้น 15% YoY ราคาเฉลี่ย 715,000 ด่อง/กก. จากปีก่อนราคาเฉลี่ยที่ 61,876 ด่อง/กก. ส่วนราคาไก่ในไทยทรงตัวที่ 40.50 บาท/กก.ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวลดลง อาทิ ข้าวโพด กากถั่วเหลือง

อย่างไรก็ดี ราคาหมูในจีนกดดัน ซึ่ง CPF ที่รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมในจีน (CTI) โดยปีก่อน CPF รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจาก CTI แต่ในไตรมาส 1/68 จะไม่มีส่วนแบ่งขาดทุนแล้ว แม้ราคาหมูในจีนยังผันผวน ปัจจุบันอยู่ที่ 14.5 หยวน/กก.ใกล้กับต้นทุนการเลี้ยงที่ 14 หยวน/กก.

สำหรับประเด็นนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ แทบไม่กระทบกับ CPF เลย เพราะมีรายได้ส่งออกไปสหรัฐเพียง 0.3% มีเพียงสินค้าเกี๊ยวกุ้งสำเร็จรูป ไม่มีการส่งออกเนื้อหมูหรือไก่ อีกทั้งหากไทยเจรจาการค้ากับสหรัฐแล้วไทยเสนอนำเข้าข้าวโพดและกากถั่วเหลือง CPF ก็จะได้รับประโยชน์ ทำให้มีตัวเลือกมากขึ้น โดย CPF มีนโยบายซื้อในประเทศก่อน หากไม่พอก็จะเจรจาซื้อจากต่างประเทศ

นักวิเคราะห์ ยังกล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2/68 เบื้องต้นคาดว่าจะยังเติบโตต่อเนื่องทั้ง YoY และ QoQ เนื่องจากทิศทางราคาหมูในไทยและเวียดนามยังอยู่ในระดับที่ดี และคาดว่าราคาหมูในจีนน่าจะทรงตัวที่ 14.5 หยวน/กก.โดยราคาหมูในไทยและเวียดนามฟื้นตัวจากฝั่งซัพพลายที่เกิดการระบาดโรคอหิวาห์ในหมูตัดวงจรแม่สุกร แต่ช่วงครึ่งปีหลังยังกังวลฝั่งดีมานด์ทั้งไทย เวียดนาม และทั่วโลก เพราะยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน และหุ้นกลุ่มเกษตรมีความผันผวนมาก

ยังคงประมาณการกำไรสุทธิของ CPF ในปี 68 ที่ 16,444 ล้านบาท (-16%y-y) โดยมองว่ายังต้องติดตามนโยบายรัฐบาลที่เตรียมเปิดเจรจากับสหรัฐฯว่าจะมีการเปิดให้นำเข้าสินค้าเกษตรชนิดใดบ้าง หากนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จะได้ประโยชน์มี upside ต่อประมาณการ แต่ถ้าเปิดให้นำข้าเนื้อหมูอาจกระทบเชิงลบต่อทั้งอุตสาหกรรมฯ


บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ คาดกำไร CPF ไตรมาส 1/68 เติบโตต่อเนื่อง จากราคาหมูไทยและเวียดนามที่ดีขึ้นและต้นทุนที่ยังลดลง แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1/68 คาดเติบโตจากราคาหมูในประเทศไทยและเวียดนามที่ดีขึ้นเป็นหลัก รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบทั้งกากถั่วเหลืองและข้าวโพดอาหารสัตว์ที่ยังอยู่ระดับต่ำ

ผลประกอบการไตรมาส 1/68 กำไรเติบโตตามราคาปศุสัตว์ โดยเฉพาะราคาหมูไทยเพิ่มขึ้นจากโรคท้องถิ่นระบาดช่วงปลายปีที่ผ่านมา และราคาหมูเวียดนามเพิ่มขึ้นจากปัญหาโรค ASF ในปีที่ผ่านมาส่งผลต่อ supply สุกรลดลง และ QoQ เติบโตเกือบทุกประเทศ ยกเว้นประเทศจีนที่ราคาสุกรลดลงจาก demand ที่ลดลง สำหรับราคาไก่ไทยทรงตัว YoY แต่เพิ่มขึ้น QoQ จากผ่านช่วงน้ำท่วมและฤดูฝนในไตรมาส 4/67

ด้านต้นทุนอาหารสัตว์ข้าวโพดอาหารสัตว์และกากถั่วเหลืองลดลงจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และเราคาดว่า CPF จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมทุนเพิ่มขึ้น YoY แต่ลดลงเล็กน้อย QoQ จาก CPAXT

บล.ทิสโก้ คาด CPF จะมีกำไรสุทธิในไตรมาส 1/68 ที่ 7,265 ล้านบาท (+531%YoY, +74%QoQ) โดยหากไม่รวมการบันทึกกำไรจากสินทรัพย์ชีวภาพที่เราคาด 400 ล้านบาท คาดกำไรหลักจะอยู่ที่ 6,865 ล้านบาท (+1,819%YoY, +5%QoQ) รายได้เพิ่มขึ้น +7% YoY และเพิ่มขึ้น +1%QoQ ในด้านปริมาณการขายทุกประเทศทรงตัวแต่เติบโตจากราคาขายเป็นหลัก ราคาปศุสัตว์ทั้งไก่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และหมูในไทย เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ดีขึ้น แต่จีนลดลงจากธุรกิจสุกรที่ราคาลดลง

ปัจจัยหนุนในไตรมาส 1/68 มาจาก 1) ราคาหมูในเวียดนามดีขึ้นจาก supply ลดลงเนื่องจากการระบาดของโรค ASF ในปีที่ผ่านมา ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 68,000 VND/kg (+27% YoY, +13% QoQ) มากกว่าต้นทุนการเลี้ยงที่ 43,000 VND/kg และราคาสุกรในจีนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 15.5 RMB/kg (+4%YoY, -11% QoQ) ต้นทุนการเลี้ยง 14.5 RMB/kg สำหรับราคาหมูไทยอยู่ที่เฉลี่ย 80 บาท/กก. (+27% YoY, +13% QoQ) ยังต่ำกว่าต้นทุนการเลี้ยงรายใหญ่อยู่ที่เฉลี่ย 64 บาท/กก.

2) ธุรกิจไก่ดีขึ้นจากการส่งออกและราคาไก่ที่เพิ่มขึ้น ราคาไก่ไทยเฉลี่ย ไตรมาส 1/68 ที่ 42 บาท/กก. (+1% YoY, +10%QoQ) สูงกว่าต้นทุนที่เฉลี่ย 37-38 บาท/กก. คาดอัตราทำกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น YoY, QoQ โดยราคากากถั่วเหลืองอาหารสัตว์ลดลงจากผลผลิตการเก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น และข้าวโพดอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น YoY และ QoQ ตามปัจจัยฤดูกาล

เราคาดบริษัทรับรู้กำไรจากบริษัทร่วมทุนเพิ่มขึ้น YoY จาก Hylife ทำกำไร และบริษัทร่วมทุน Chia Tai ทำธุรกิจสุกรและอาหารสัตว์ในจีนคาดกำไรแม้ว่าราคาสุกรลดลงแต่ต้นทุนอาหารสัตว์ก็ลดลงด้วยเช่นกัน แต่คาดลดลง QoQ จาก CPAXT ลดลงตามปัจจัยฤดูกาล

ส่วนผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าทั่วโลกจะกระทบต่อ CPF ทางอ้อมในด้านภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงทั่วโลกกระทบต่อผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง แต่ผลกระทบทางตรงเราคาดจำกัด เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีการส่งออกกลุ่มอาหารสัตว์น้ำ (กุ้ง) เพียง 0.3% ของรายได้รวมไปที่ US และบริษัทย่อยในแคนาดามีการส่งออกสัดส่วนใหญ่ไปที่ญี่ปุ่น 60% และที่เหลือไปจีน เกาหลีใต้ และบริโภคในประเทศเอง และธุรกิจในสหรัฐฯ บริษัทมีบริษัทย่อย Bellisio ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแช่งพร้อมรับประทานในสหรัฐฯ ปัจจุบันยังรับรู้ขาดทุนอยู่

สำหรับข่าวในอดีตที่เคยกล่าวถึงการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ บริษัทมองว่าปัจจุบันราคาเนื้อหมูในสหรัฐฯ รวมค่าขนส่งมีราคาแพงกว่าในประเทศไทย ทำให้แรงจูงใจส่งออกมาไทยน้อยกว่า ยกเว้นเครื่องในหมูที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ไม่นิยม อย่างไรก็ตาม สัดส่วนเครื่องในหมูมีมูลค่าน้อยและต้องมีการตรวจสอบเรื่องคุณภาพจากกระทรวงพาณิชย์ก่อนนำเข้ามาไทยเนื่องจากสุกรในสหรัฐฯ มีสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในกระบวนการเลี้ยงสุกรของไทยมาหลายสิบปี ขณะที่สหรัฐฯ ยังคงอนุญาตให้ใช้สารนี้ภายใต้กฎหมาย

ข่าวเกี่ยวกับโอกาสการนำเข้ากากถั่วเหลืองหรือข้าวโพดอาหารสัตว์จากสหรัฐฯ โดยราคากากถั่วเหลืองของสหรัฐฯ ถ้าไม่รวมเรื่องภาษีหรือค่าขนส่งจะมีราคาถูกกว่าบราซิล และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน อาจจะส่งผลให้จีนนำเข้ากากถั่วเหลืองจากสหรัฐฯน้อยลง (สัดส่วนมูลค่าที่จีนนำเข้ากากถั่วเหลืองจากสหรัฐฯปี 66 คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 54% ในสหรัฐฯ) และถ้าไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งมีราคาถูกลงอาจจะส่งผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการแต่ต้องพิจารณาคุณภาพโปรตีน ในส่วนข้าวโพดอาหารสัตว์หากนำเข้าจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศที่มีผลผลิตค่อนข้างมาก

ผลประกอบการปีนี้มีแนวโน้มดีกว่าที่คาดเดิม จากราคาสุกรที่ปรับตัวขึ้น ต้นทุนลดลง แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/68 เราคาดจะดีขึ้นจากราคาสุกรที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ราคาหมูไทยปัจจุบันอยู่ที่ 86 บาท/กก. (บริษัทคาดราคาหมูปีนี้จะอยู่ที่ 80-82 บาท/กก. จากปลายปีที่ผ่านคาดที่ 75 บาท/กก.) จากปัญหาหมูเถื่อนที่คลี่คลาย และจาก supply ที่ลดลงจากผลกระทบราคาตกต่ำที่ผ่านมาและโรคท้องถิ่น ราคาหมูเวียดนามอยู่ที่ 69,000 VGN/kg จากโรค ASF ระบาด และ supply ที่ลดลง ขณะที่ราคาต้นทุนกากถั่วเหลืองอยู่ที่ 16.3 บาท/กก. และข้าวโพดอาหารสัตว์อยู่ที่ 10.5 บาท/กก.

เราคงประมาณการเดิมปี 68-69 คาดกำไรสุทธิอยู่ที่ 19,990 ล้านบาท (+2% YoY) และ 22,115 ล้านบาท (+10% YoY) จากราคาปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ราคาต้นทุนอาหารสัตว์ยังทรงตัวระดับต่ำกว่าที่ปีที่ผ่านมา และจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรขาดทุนจากบริษัทร่วมทุน CPALL และ CPAXT และธุรกิจร่วมทุนในจีนทุน Chia Tai Investment : CTI (26.69%) ทำธุรกิจสุกรและอาหารสัตว์ในจีนคาดเพิ่มขึ้น

แนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 31.00 บาท อ้างอิงวิธี sum-of-the-part โดย CPF โดยราคาปัจจุบันมีระดับ PER25F ที่ 9.9X, Dividend Yield 25F อยู่ที่ 4.7% ความเสี่ยง : ความผันผวนของราคาปศุสัตว์ และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์, โรคระบาด และภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวกระทบต่อ demand ที่ซบเซา


บล.ทรีนีตี้ คาดกำไรสุทธิ CPF ในไตรมาส 1/68 ที่ 6,233 ล้านบาท ดีขึ้น 49%QoQ และ 441%YoY โดยคาดรายได้ทรงตัว QoQ และเติบโตราว 6%YoY ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นคาดปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 15.8% หลังแนวโน้มราคาสัตว์บกในไทยยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยตัวเลขอ้างอิงจากกรมการค้าภายใน ราคาหมูหน้าฟาร์มในประเทศเฉลี่ยในไตรมาส 1/68 อยู่ที่ราว 79.6 บาท/กก. (+9%QoQ, +21%YoY) และราคาไก่หน้าฟาร์มในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ราว 40.4 บาท/กก. (+8%QoQ, +1%YoY)

ราคาหมูที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลจากอุปทานที่ลดลงจากโรคระบาด ขณะที่ราคาไก่ยังทรงตัวอยู่ในเกณฑ์ดีจากปริมาณการส่งออกไปต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ด้านราคาสัตว์บกในต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะราคาหมูในเวียดนาม มีเพียงราคาหมูในจีนที่ยังอ่อนตัวลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลให้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง QoQ

คาดกำไรปี 68 จะเติบโตได้เล็กน้อยราว 3%YoY โดยหากกำไรงวดไตรมาส 1/68 ออกมาตามคาดจะคิดเป็นราว 31% ของประมาณการทั้งปี โดยแนวโน้มในไตรมาส 2/68 เรามองว่าจะยังคงเห็นกำไรเติบโตดีขึ้น QoQ เนื่องจากราคาสัตว์บกในช่วงต้นไตรมาสยังอยู่ในระดับสูงทั้งในไทยและต่างประเทศ บวกกับจะเป็นช่วง High Season ของการส่งออก ทั้งนี้ในส่วนของความกังวลเกี่ยวกับการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อประเทศต่างๆ เราคาดว่าผลกระทบโดยตรงค่อนข้างต่ำ เนื่องจากธุรกิจของ CPF ในประเทศต่างๆ เป็นการขายภายในแต่ละประเทศเป็นหลัก มีการส่งออกค่อนข้างน้อย แต่อาจเห็นผลกระทบทางอ้อมได้ หากแต่ละประเทศได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจทำให้การบริโภคลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาดูในครึ่งปีหลัง

เรายังคงราคาเป้าหมายปี 68 ที่ 28 บาท อิง PBV 0.95 เท่า ราคาหุ้นปัจจุบันยังมี Upside น่าสนใจ เราจึงยังคงคำแนะนำ "ซื้อ"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ