เยลเลนเตือนนโยบายทรัมป์บั่นทอนความเชื่อมั่นในศก.สหรัฐฯ - สินทรัพย์สกุลดอลลาร์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 15, 2025 00:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เจเน็ต เยลเลน อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ แสดงความกังวลต่อผลกระทบจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยระบุว่านโยบายเก็บภาษีนำเข้าและแนวทางอื่น ๆ กำลังทำให้พันธมิตรของสหรัฐฯ สูญเสียความเชื่อมั่นในคำมั่นสัญญาของสหรัฐฯ และทำให้นักลงทุนบางรายเริ่มหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ของสหรัฐ

เยลเลนให้สัมภาษณ์กับ CNBC โดยกล่าวว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นสัญญาณที่น่ากังวล เนื่องจากพันธบัตรเหล่านี้เคยเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบการเงินโลก แต่ตอนนี้กลับมีคนเริ่มตั้งคำถามถึง ความปลอดภัยของสินทรัพย์เหล่านั้น

เยลเลนกล่าวว่า เธอไม่คิดว่าจะเกิดความปั่นป่วนจากสภาพคล่องที่เหือดหายไปจากตลาดโดยสิ้นเชิง แต่รูปแบบที่เกิดขึ้นบ่งชี้ถึงการสูญเสียความเชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และในความปลอดภัยของสินทรัพย์หลักของโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลงในวันนี้ หลังจากรัฐบาลทรัมป์ประกาศเมื่อสุดสัปดาห์ว่า จะยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนบางรายการเป็นการชั่วคราว เช่น สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ และชิปเซมิคอนดักเตอร์ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ลดลง 0.08% จากวันศุกร์ มาอยู่ที่ 4.41% แม้ยังสูงกว่าระดับ 3.99% ของวันที่ 4 เม.ย.

เยลเลนยังกล่าวว่า ถึงแม้การประมูลพันธบัตรอายุ 10 ปีและ 30 ปีเมื่อสัปดาห์ก่อนได้รับผลตอบรับที่ดี แต่เธอไม่แนะนำให้รัฐบาลหันไปออกพันธบัตรระยะสั้นเพิ่ม เพื่อรับมือกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่เพิ่มสูงขึ้น โดยย้ำว่าการออกพันธบัตรควรเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและคาดการณ์ได้ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของตลาด

เยลเลนยังระบุว่า นโยบายของทรัมป์ โดยเฉพาะภาษีนำเข้ากำลังทำลายเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความสัมพันธ์กับพันธมิตร โดยทำให้หลายประเทศสงสัยในความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ต่อนาโต, ยูเครน และข้อตกลงการค้า USMCA (สหรัฐฯ?เม็กซิโก?แคนาดา) พร้อมเตือนว่า สหรัฐฯ อาจกลายเป็นประเทศที่โดดเดี่ยวและไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้จีนเข้ามาสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

แม้เยลเลนยืนยันว่ายังไม่เห็นความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินในขณะนี้ แต่เธอกล่าวว่า หากเกิดปัญหาขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็ยังมีเครื่องมือสนับสนุนสภาพคล่องที่เคยใช้ช่วงต้นยุคโควิด-19 ในปี 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ