แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) หรือองค์การนิรโทษกรรมสากลซึ่งเป็นองค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เปิดเผยในรายงานประจำปีว่า มีการยืนยันการประหารชีวิตนักโทษ 1,518 รายใน 15 ประเทศทั่วโลกในปี 2567 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2558
รายงานระบุว่า ส่วนใหญ่ของการประหารชีวิตเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศตะวันออกกลาง เช่น อิหร่านและซาอุดีอาระเบีย แม้ว่าจำนวนประเทศที่ยังใช้โทษประหารลดลงเหลือระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ก็ตาม
ตัวเลขนี้ยังไม่รวมผู้ที่ถูกประหารชีวิตหลายพันคนในจีนซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับโทษประหารถือเป็นความลับของรัฐ อีกทั้งยังไม่รวมเกาหลีเหนือและเวียดนามที่เชื่อว่ามีการประหารชีวิตในวงกว้าง
ส่วนญี่ปุ่นไม่ได้มีการประหารชีวิตนักโทษในปีที่ผ่านมา แม้ว่ายังคงใช้โทษประหารอยู่
รายงานระบุว่า อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และอิรัก คิดเป็นมากกว่า 90% ของจำนวนการประหารชีวิตที่ได้รับการยืนยัน โดยในปี 2567 อิหร่านประหารชีวิตนักโทษ 972 ราย ซาอุดีอาระเบีย 345 ราย และอิรัก 63 ราย โดยเฉพาะในอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย มีการใช้โทษประหารเพื่อปราบปรามความเห็นต่าง
ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่มีจำนวนการประหารชีวิตเพิ่มขึ้นได้แก่ อียิปต์ สิงคโปร์ เยเมน และสหรัฐฯ
ในจำนวนทั้งหมดนั้น มี 637 ราย หรือ 42% ที่เกี่ยวข้องกับความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งแอมเนสตี้ระบุว่า การใช้โทษประหารควรถูกจำกัดเฉพาะอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดเท่านั้น โดยความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไม่ควรเข้าข่ายนี้
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เป็นสองประเทศในกลุ่ม G7 ที่ยังคงใช้โทษประหาร ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งห้ามประเทศที่ใช้โทษประหารเข้าร่วมนั้นได้แสดงจุดยืนเรียกร้องให้ญี่ปุ่นทบทวนจุดยืนของตนอย่างต่อเนื่อง