สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 7, 2025 15:30 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 31 มีนาคม - 6 เมษายน 2568

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2568/69 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2568 มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.910 ล้านไร่ ผลผลิต 27.207 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 439 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2567/68 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.020 ล้านไร่ ผลผลิต 27.007 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.18 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.74 และร้อยละ 0.92 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มลดลง เกษตรกรจึงปล่อยพื้นที่ให้ว่าง บางรายปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น จากปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัย ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ คาดการณ์ผลผลิตจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2568 - พฤษภาคม 2569 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568 ปริมาณรวม 17.401 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 63.95 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2568 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2568 มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.624 ล้านไร่ ผลผลิต 7.605 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 654 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.058 ล้านไร่ ผลผลิต 6.545 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 651 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก ปี 2567 ร้อยละ 15.57 ร้อยละ 16.20 และร้อยละ 0.46 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญาที่เริ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน 2567 และคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2568 จะทำให้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ จูงใจให้เกษตรบางส่วนขยายเนื้อที่เพาะปลูกในที่นาที่เคยปล่อยว่าง เพื่อปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีน้ำเพียงพอต่อต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของต้นข้าว

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2568 โดยในเดือนเมษายน 2568 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 2.715 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 35.70 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน 2568 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 5.931 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 77.99 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 1.674 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 22.01 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,343 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,331 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.08

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,864 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,994 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.62

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 35,150 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,410 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,550 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.12

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 976 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,076 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 982 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,082 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.61 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 6 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 412 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,962 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 423 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,250 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.60 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 288 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 423 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,335 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 435 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,654 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.76 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 319 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.8895 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย-สหรัฐอเมริกา

นาย Donald trump ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าพื้นฐานในอัตรา ร้อยละ 10 สำหรับสินค้าทุกประเภทที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ และจะมีการเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นสำหรับประเทศคู่ค้ารายใหญ่ โดยระบุว่าจะเก็บภาษีนำเข้าจากจีนในอัตราร้อยละ 34 สหภาพยุโรปร้อยละ 20 เกาหลีใต้ร้อยละ 25 ญี่ปุ่นร้อยละ 24 และไต้หวันร้อยละ 32 เพื่อตอบโต้ภาษีที่ประเทศเหล่านี้ได้เรียกเก็บจากสินค้าของสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราภาษีสูงสุด โดยมีอัตราภาษีนำเข้าที่ร้อยละ 36 ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนามร้อยละ 46 อินโดนีเซียร้อยละ 32 มาเลเซียร้อยละ 24 กัมพูชาร้อยละ 49 เมียนมาร์ร้อยละ 44 และลาวร้อยละ 48

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า หลังจากการประกาศของประธานาธิบดี Donald trump ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งมีสัดส่วนในตลาดสหรัฐฯ สูงถึง 850,000 ตัน ในปี 2567 คาดว่าจะมีราคาสูงขึ้นจากราคาปกติเฉลี่ยตันละ 900 ? 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 30,501 ? 33,890 บาท) เป็นตันละ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 47,445 บาท) ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก

เมื่อเทียบกับข้าวหอมจากเวียดนามที่มีการนำเข้าเฉลี่ยต่อปี 40,000 ตัน เท่านั้น แม้ว่าข้าวหอมเวียดนามจะถูกเรียกเก็บภาษีสูงกว่าข้าวไทยที่อัตราร้อยละ 46 แต่ราคาข้าวหอมเวียดนามเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 600 ? 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ(ตันละ 20,334 ? 23,723 บาท) ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคลดการซื้อข้าวหอมมะลิไทยลงและหันไปซื้อข้าวหอมเวียดนามแทน ด้วยเหตุนี้ จึงขอให้หน่วยงานภาครัฐเร่งหาทางช่วยเหลือหรือเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นการเร่งด่วนเพื่อหาทางลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคเอกชน ทั้งนี้ หากพิจารณาจากปริมาณการนำเข้าข้าวหอมมะลิไทยในตลาดสหรัฐฯ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หลังจากมีกระแสข่าวที่จะเรียกเก็บภาษีตอบโต้ในหลายประเทศ ทำให้ผู้ค้าข้าวในตลาดสหรัฐฯ นำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยไปแล้วประมาณ 100,000 ตัน

ที่มา ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 33.8895 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ