
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างอาชีพ สร้างชีวิต มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่สตรี แม่เลี้ยงเดี่ยวหรือด้อยโอกาส ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี พร้อมมอบรถเข็นวีลแชร์แก่ผู้พิการด้อยโอกาส มอบจักรยานให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ชนบท และนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการประชาชนฟรี
เมื่อวันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2568 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการ พร้อมด้วย นายจารุรัตน์ คุณัตถานนท์ กรรมการและเหรัญญิก นางชุติมา ตันติศิริวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการ นางสาวดวงชุตา ติยะพจนพรกุล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ นางสาวศุภรัตน์ สมบัติเจริญไทย หัวหน้าแผนกส่งเสริมการศึกษาและอาชีพ และ นางสาวเนาวรัตน์ วรรณศิริ หัวหน้าแผนกหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน นำทีมลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี มอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้แก่สตรีที่มีรายได้น้อยมีภาระหน้าที่ดูแลคนในครอบครัว เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือด้อยโอกาสทางสังคม มีความรู้ความสามารถ แต่ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพ จำนวน 6 ราย พร้อมมอบรถเข็นวีลแชร์แก่ผู้พิการด้อยโอกาส จำนวน 10 ราย และมอบจักรยาน แก่โรงเรียนชนบทที่ขาดแคลน จำนวน 2 โรงเรียน รวมจำนวน 20 คัน พร้อมกระบอกน้ำขนาด 1 ลิตร รวมมูลค่าการดำเนินการช่วยเหลือชาวชลบุรีในครั้งนี้ทั้งสิ้น 184,072 บาท (หนึ่งแสนแปดหมื่นสี่พันเจ็ดสิบสองบาทถ้วน) พร้อมกันนี้ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้นำทีมหน่วยแพทย์ฯ ลงพื้นที่ให้บริการประชาชนฟรี ประกอบด้วย บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป จ่ายยา ตรวจวัดสายตาพร้อมแจกแว่น ฯลฯ โดยมี นายพงศ์ธสิษฐ์ ปิจนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วย นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นายนัธทวัฒน์ ธนโชติชัยพัชร์ ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ 36 พรรษา จังหวัดชลบุรี และนางสาวอัญชลี จงคดีกิจ (ปุ๊-อัญชลี) อาสาสมัครศิลปินมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมในพิธี ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ 36 พรรษา จังหวัดชลบุรี
นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการ เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อสตรีและครอบครัว มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพ แก่ สตรี บุรุษ พ่อเลี้ยงเดี่ยว หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีความรู้และความสามารถ ฐานะยากจน ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ โดยเราได้รับความร่วมมือจากศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวและสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ชลบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ ขอนแก่น ลำพูน ลำปาง เชียงราย และพิษณุโลก