
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานการประชุมคณะทำงานกำกับ ติดตามและประเมินผลโครงการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานและบริการมูลค่าสูง ประจำสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี (เพิ่มเติม) และคณะทำงานย่อย ครั้งที่ 1/2568
โดยนายประสานปานคง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี เป็นรองประธานฯ และนางสาวเชาวนีฐ์ โคมแก้ว ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ เป็นเลขานุการฯ
การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานและบริการมูลค่าสูงในพื้นที่กำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีเป้าหมายดำเนินการในกลุ่มแปลงใหญ่ จำนวน 8 แปลง วิสาหกิจชุมชน จำนวน 3 แห่ง Smart Farmer (SF) จำนวน 3 ราย Young Smart Famer (YSF) จำนวน 6 ราย รวมทั้งสิ้น 20 แปลง/วิสาหกิจชุมชน/ราย (20 ที่ตั้ง) จำนวน 14 ชนิดสินค้า ในพื้นที่ 8 จังหวัด ของภาคตะวันตก
ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานฯ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี เกษตรจังหวัดทั้ง 8 จังหวัด ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมและจัดการการผลิตไม้ผล ไม้ยืนต้น และยางพารา ผู้แทนกองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ผู้แทนกองพัฒนาเกษตรกร และคณะทำงานฯ รวมจำนวน 60 คน
ซึ่งโครงการดังกล่าวมีที่มาจากสภาวะเอลนีโญตั้งแต่ปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปี 2567 ทำให้ปริมาณฝนตกน้อย สภาพอากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง พืชเติบโตได้ไม่ดี เกษตรกรจึงงดหรือปรับเปลี่ยนพืชบางชนิด ต่อมาเข้าสู่ภาวะลานีญาในเดือนกันยายน 2567 ประเทศไทยเผชิญกับมรสุมและมีฝนตกหนักเกิดอุทกภัยและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ทำให้ผลผลิตบางส่วนเสียหาย
ต่อมาในปี 2568 แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ขยายตัวอยู่ในช่วง 1.8 - 2.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ ปริมาณน้ำฝนที่มีมากขึ้น จากอิทธิพลของสภาวะลานีญา ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืชในภาพรวม เศรษฐกิจ มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี การบริโภคภายในประเทศ การท่องเที่ยว และการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความมั่นคงทางอาหาร จากภัยพิบัติและห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนการดำเนินงานของภาครัฐ อาทิ พัฒนาการผลิตและบริหารจัดการสินค้าเกษตรตามความต้องการของตลาด ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตและแปรรูป ยกระดับสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและมูลค่าสูง บริหารจัดการน้ำทั้งระบบ พัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร จึงมีแนวคิด'ทำการเกษตรให้มีมูลค่าสูง' ด้วยโครงการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานและบริการมูลค่าสูง ปี 2568 เป็นการพัฒนาโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง "1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง" ด้านพืช แมลงเศรษฐกิจ และบริการเชิงสร้างสรรค์ ปี 2567 จาก 46 กลุ่มแปลงใหญ่ 46 ตำบล 42 อำเภอ 26 จังหวัด โดยการทำเกษตรแบบประณีตหรือเกษตรแม่นยำสูงที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีหมุนเวียน เพื่อยกระดับการผลิตและคุณค่าเป็นสินค้าเกษตรโภชนาการสูง ตลอดจนเพื่อใช้ประโยชน์ด้านวัสดุชีวภาพ ด้านเภสัชกรรม ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นต่อไป
