โตได้อีก! ส่งออก "อาหารการแพทย์-อาหารเฉพาะบุคคล" ฉายแววดี รับเทรนด์สุขภาพโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 17, 2025 12:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โตได้อีก! ส่งออก

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สินค้าอาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล (Medical and Personalized Food) เป็นอีกหนึ่งสินค้าศักยภาพของไทย แม้ปัจจุบัน ไทยยังมีการส่งออกในมูลค่าไม่สูงนัก แต่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและสอดรับเทรนด์ดูแลใส่ใจสุขภาพ ซึ่งยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในอนาคต

จากข้อมูลของ Presedence Research ผู้ให้บริการด้านข้อมูลตลาดเชิงลึก ระบุว่า

- ขนาดตลาดอาหารทางการแพทย์ (Medical Food Market Size) ของโลก ในปี 2568 คาดว่าอยู่ที่ 26.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะเติบโตถึง 40.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2577 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 5.1% ระหว่างปี 2568 - 2577

- ขนาดตลาดโภชนาการเฉพาะบุคคล (Personalized Nutrition Market Size) ของโลก ในปี 2568 คาดว่าอยู่ที่ 17.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะเติบโตถึง 60.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2577 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 14.6% ระหว่างปี 2568 - 2577

ในปี 2567 ไทยส่งออกอาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล เป็นมูลค่า 7,018.2 ล้านบาท ขยายตัว 9%.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกสำคัญของไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. อาหารปรุงแต่งสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก มูลค่า 4,153.2 ล้านบาท 2. ซุปและซุปข้นที่มีเนื้อสัตว์ เช่น ซุปน้ำสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ มูลค่า 2,023.1 ล้านบาท 3. อาหารปรุงแต่งที่มีส่วนผสมเป็นเนื้อเดียวกันที่มีเนื้อสัตว์ เช่น ซุปละเอียด มูลค่า 275.2 ล้านบาท

ทั้งนี้ เฉพาะการส่งออกอาหารปรุงแต่งสำหรับทารก มีสัดส่วน 59.2% รองลงมา คือ อาหารจำพวกซุป มีสัดส่วน 32.7% รวมกันมีสัดส่วนถึง 91.9% ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารทางการแพทย์ฯ ของไทย สำหรับตลาดส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ มาเลเซีย สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา และออสเตรเลีย มีสัดส่วน 33.6% 14.2% 13.6% 8.9% และ 6.2% ตามลำดับ

สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 (ม.ค.-ก.พ.) ไทยส่งออกอาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล เป็นมูลค่า 1,254.5 ล้านบาท ขยายตัว 17.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สินค้าที่ขยายตัวสูง อาทิ 1.อาหารปรุงแต่งสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก ซึ่งแพ้นมหรือขาดน้ำย่อยแลคเตส ขยายตัวสูงถึง 162.7% 2.อาหารเสริม ขยายตัว 66.9% และ 3.อาหารที่ใช้ในทางการแพทย์ ขยายตัว 45.7%

นายพูนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาการส่งออกและการนำเข้าของโลก สำหรับสินค้ากลุ่มอาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล ที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) อาหารปรุงแต่งสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก (2) ซุปและซุปข้นที่มีเนื้อสัตว์ และ (3) อาหารปรุงแต่งที่มีส่วนผสมเป็นเนื้อเดียวกันที่มีเนื้อสัตว์ จะเห็นสถานะการส่งออกของไทยเปรียบเทียบกับโลก ซึ่งไทยยังมีช่องว่างที่จะพัฒนาอันดับให้สูงขึ้นได้อีกมาก และมีโอกาสที่จะส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ ที่มีความต้องการสูงสำหรับสินค้ากลุ่มนี้ ดังนี้

1. อาหารปรุงแต่งสำหรับทารกและเด็กเล็ก: ในปี 2566 โลกส่งออกสินค้าอาหารปรุงแต่งสำหรับทารกและเด็กเล็กเป็นมูลค่า 10,464.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ (สัดส่วน 23% ของมูลค่าการส่งออกโลก) รองลงมา คือ ฝรั่งเศส (10.9%) นิวซีแลนด์ (10.3%) เยอรมนี (10.1%) และไอร์แลนด์ (8.6%) สำหรับไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 18 ของโลก มีสัดส่วน 1.1% ของมูลค่าการส่งออกโลก

หากพิจารณาด้านการนำเข้าของโลก พบว่าประเทศผู้นำเข้าสินค้าอาหารปรุงแต่งสำหรับทารกและเด็กเล็ก อันดับ 1 ของโลก ได้แก่ จีน (สัดส่วน 36.2% ของมูลค่าการนำเข้าโลก) รองลงมา คือ ซาอุดีอาระเบีย (5.2%) สหรัฐอเมริกา (3.0%) แคนาดา (2.4%) และมาเลเซีย (2.4%)

2. ซุปและซุปข้นที่มีเนื้อสัตว์: ในปี 2566 โลกส่งออกสินค้าซุปและซุปข้นที่มีเนื้อสัตว์เป็นมูลค่า 3,441.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (สัดส่วน 23.7% ของมูลค่าการส่งออกโลก) รองลงมา คือ แคนาดา (5.6%) สเปน (5.5%) เยอรมนี (5.1%) และเซเนกัล (4.3%) สำหรับไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 22 ของโลก มีสัดส่วน 1.5% ของมูลค่าการส่งออกโลก

หากพิจารณาด้านการนำเข้าของโลก พบว่าประเทศผู้นำเข้าสินค้าซุปและซุปข้นที่มีเนื้อสัตว์อันดับ 1 ของโลก ได้แก่ สหรัฐฯ (สัดส่วน 14.5% ของมูลค่าการนำเข้าโลก) รองลงมา คือ เม็กซิโก (11.5%) แคนาดา (8.4%) เยอรมนี (4.7%) และเนเธอร์แลนด์ (4.4%)

3. อาหารปรุงแต่งที่มีส่วนผสมเป็นเนื้อเดียวกันที่มีเนื้อสัตว์: ในปี 2566 โลกส่งออกสินค้าอาหารปรุงแต่งที่มีส่วนผสมเป็นเนื้อเดียวกันที่มีเนื้อสัตว์ เป็นมูลค่า 703.0 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ได้แก่ เยอรมนี (สัดส่วน 11.4% ของมูลค่าการส่งออกโลก) สโลวาเกีย (8.3%) โปแลนด์ (8.2%) ฝรั่งเศส (7.9%) และสเปน (7.5%) สำหรับไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 19 ของโลก มีสัดส่วน 1.2% ของมูลค่าการส่งออก

หากพิจารณาด้านการนำเข้าของโลก พบว่าประเทศผู้นำเข้าสินค้าอาหารปรุงแต่งที่มีส่วนผสมเป็นเนื้อเดียวกันที่มีเนื้อสัตว์อันดับ 1 ของโลก ได้แก่ เยอรมนี (สัดส่วน 11.6% ของมูลค่าการนำเข้าโลก) รองลงมา คือ สหรัฐฯ (9.7%) ซาอุดีอาระเบีย (9.6%) สหราชอาณาจักร (9.4%) และเนเธอร์แลนด์ (8.9%)

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพและเป็นผู้นำด้านการส่งออกสินค้าอาหารของโลก สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสู่อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล โดยต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ศึกษากฎระเบียบและมาตรฐานการนำเข้าของประเทศคู่ค้า ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาไปได้อีกไกล นอกจากนี้ การพัฒนาอาหาร

ทางการแพทย์ฯ ยังสอดรับกับสังคมผู้สูงอายุของไทย และช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศอีกด้วย

โตได้อีก! ส่งออก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ