นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นปัญหาการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้ง 2 เฟสจำนวน 5,200 และ 3,600 เมกะวัตต์ตามที่เป็นข่าวว่า ถึงจะเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย แต่ไม่เหมาะสม ดังนั้นจะไม่ควรที่จะตัดสินใจเดินหน้าต่อไป
เนื่องจากขณะนี้มีปัญหาการบริหารจัดการที่สุ่มเสี่ยงต่อเรื่องความโปร่งใส โดยเร่งรีบดำเนินการในช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ทั้งที่ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าที่มีปริมาณการผลิตเกินความต้องการมากอยู่แล้ว
"หากรัฐบาลในปัจจุบันจะมีการเดินหน้าต่อ โดยปราศจากการทบทวน หาทางออกที่เหมาะสมกว่ามุมมอง แค่ถูกกฏหมาย หรือไม่? มันจะยิ่งซ้ำเติมค่าไฟฟ้าของประเทศแบบไม่รู้จบ!!" นายอิศเรศ ระบุ
นายอิศเรศ ระบุว่า ทั้งฝ่ายนโยบายและฝ่ายกำกับดูแลควรจะออกมารับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะปัญหา Route cause คือเราไม่ควรจะใช้วิธีรับซื้อไฟฟ้าที่ไม่เหมาะสม และไม่เป็นธรรมต่อประเทศ กล่าวคือ จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดให้ใช้ราคาเป้าหมายที่จะรับซื้อ และตัดสินด้วยการให้คะแนนเชิงเทคนิคจากคณะกรรมการคัดเลือก แทนที่จะเป็นการประกวดราคาและเอาราคาผู้เสนอราคาภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดที่มีราคาต่ำสุด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศ และเป็นวิธีการที่มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่อิงกับตัวบุคคลในการให้คะแนน
"จุดนี้คือจุดเริ่มต้นแห่งความผิดพลาดในการบริหาร จนนำไปสู่ปัญหาในรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งเมื่อฝ่ายนโยบายในยุคปัจจุบันเห็นปัญหาดังกล่าวแล้วก็สมควรที่จะหยุดการดำเนินการใด ๆ ไม่ควรจะเดินหน้าแล้วบอกว่าหากผิดกฎหมาย ค่อยมาแก้ไข ไม่ผูกพัน 20-25 ปีไหมครับ?"
"ปัญหาหาคือถึงจะถูกกฎหมาย แต่ไม่เหมาะสมด้วยนโยบาย หรือวิธีการที่สุ่มเสี่ยงต่อความโปร่งใส และยังเป็นภาระต้นทุนของประเทศ ก็ไม่ควรเดินหน้าใช่ไหมครับ? การทบทวนวิธีการ และพูดคุยหาทางร่วมกันกับผู้ที่ผ่านเกณฑ์การประมูลแล้ว น่าจะเป็นทางออกที่ควรทำหรือไม่ครับ?" นายอิศเรศ ระบุ
ทั้งนี้ เป็นข้อเสนอหาทางออกเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ และยึดหลักความโปร่งใสเป็นที่ตั้ง