
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อกรอบแนวทางในการเจรจา 5 ข้อของไทยกับสหรัฐฯ ที่มองว่าต้องไปให้ไกลกว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยมุ่งไปที่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้วย
รัฐบาลไทย วางกรอบแนวทาง 5 ข้อ ในการเจรจากับสหรัฐ ประกอบด้วย 1. การเน้นความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนกัน เช่น การผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง 2. การเปิดตลาดสินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพดให้สหรัฐ โดยใช้โควตานำเข้าแบบยืดหยุ่น 3. การเพิ่มการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากสหรัฐ เช่น ก๊าซธรรมชาติ และเครื่องบินพาณิชย์ 4. การคัดกรองสินค้าส่งออก เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม และ 5. การเพิ่มการลงทุนของไทยในอุตสาหกรรมแปรรูปในสหรัฐ
นายสมเกียรติ ระบุว่า โดยรวมแล้ว เห็นด้วยกับกรอบแนวทางในการเจรจาดังกล่าว และเห็นว่าน่าจะพอตอบโจทย์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้บ้าง เพราะจะช่วยลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐได้ระดับหนึ่ง ที่สำคัญกว่านั้น คือหลายเรื่องในกรอบการเจรจาก็เป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว เพราะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยเองในหลายด้าน ไม่ว่าจะมีการเจรจากับสหรัฐหรือไม่ก็ตาม
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อแนวทางในการเจรจา และการกำหนดนโยบายที่จะตามมาของรัฐบาลไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว มากกว่าการแก้ไขวิกฤติการค้าเฉพาะหน้า ดังนี้
1. การเปิดตลาดและลดภาษีในสินค้าเกษตร
แนวทางของรัฐบาล คือไทยจะเปิดตลาดและลดภาษีสินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพดจากสหรัฐ โดยใช้ "โควตานำเข้าแบบยืดหยุ่น" เพื่อรักษาสมดุล ไม่ให้กระทบผู้ผลิตในประเทศ
โดยข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ คือ การปลูกข้าวโพดเพื่อเป็นอาหารสัตว์ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทยเป็นการผลิตที่ไม่สอดคล้องกับความได้เปรียบในเชิงเปรียบเทียบของประเทศ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และต้องอาศัยการคุ้มครองด้วยโควตานำเข้า ซึ่งเป็นระบบที่ไม่มีความโปร่งใส และอยู่ได้ด้วยการค้ำจุนของกลุ่มผลประโยชน์ในธุรกิจเมล็ดพืช ปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ซึ่งมีเกษตรกรเป็นลูกค้า
โดยผลของการปลูกข้าวโพดในประเทศไทย ซึ่งภายหลังขยายไปประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากจะไม่มีประสิทธิภาพ และทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์สูงกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาการเผาแปลงเกษตรในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา PM 2.5 ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง และทำลายการท่องเที่ยวซึ่งเป็นธุรกิจหลักของประเทศ
ทั้งนี้ ธนาคารโลก เคยประเมินว่า เฉพาะความเสียหายด้านสุขภาพของไทยจากปัญหา PM 2.5 ในแต่ละปีก็สูงถึง 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท) หรือ 3.9% ของ GDP แล้ว ดังนั้น การยกเลิกโควตาในการนำเข้าข้าวโพด และถั่วเหลือง จะเกิดประโยชน์มหาศาลต่อทั้งการลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ และยังเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือสุขภาพของประชาชน จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม การยกเลิกโควตานำเข้าดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดในประเทศไทย รัฐบาลจึงควรให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับตัวอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้กลุ่มผลประโยชน์ใช้เกษตรกรเป็นข้ออ้างในการขัดขวางการยกเลิกโควตาดังกล่าว
ในระยะเปลี่ยนผ่าน นโยบายที่เหมาะสมของรัฐบาลไม่ควรเป็นการใช้ "โควตานำเข้าแบบยืดหยุ่น" เนื่องจากโควตาเป็นระบบที่มีปัญหามากในตัวเอง เพราะต้องพิจารณาว่าใครจะได้ผลประโยชน์จากโควตา ซึ่งเปิดช่องให้เกิดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐในการแสวงหาประโยชน์ และ "ความยืดหยุ่น" ที่มีอาจจะมากจนกลับไปเป็นโควตาแบบเข้มงวดได้อีกในอนาคต จึงควรเปลี่ยนโควตาเป็น "ภาษีนำเข้า" ซึ่งมีความโปร่งใสมากกว่า เอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์น้อยกว่า และยังสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐ
2. คัดกรองสินค้าส่งออก
แนวทางของรัฐบาล คือไทยจะคัดกรองสินค้าส่งออก เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม ทั้งการตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบและโรงงานผลิต เน้นความโปร่งใส และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในฐานะคู่ค้า
โดยข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ คือเป็นความจริงที่การสวมสิทธิ์สินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่สามให้กลายเป็นสินค้าไทย เพื่อหลบเลี่ยงภาษีในระดับสูงในการส่งออกไปสหรัฐ มีส่วนทำให้ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐมาก จนเป็นเป้าหมายในการถูกเก็บภาษีนำเข้า
อย่างไรก็ตาม "การคัดกรองสินค้าส่งออก" เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่าย และอาจทำให้การส่งออกโดยรวมประสบปัญหาล่าช้าไปด้วย นอกจากนี้ หากรัฐบาลมุ่งคัดกรองเฉพาะสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐ แต่ไม่คัดกรองสินค้าที่ส่งออกไปตลาดอื่น เช่น ยุโรป ในอนาคตสินค้าไทยก็อาจจะเป็นเป้าหมายในการกีดกันการค้าจากตลาดดังกล่าวเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ทางเลือกที่น่าจะเหมาะสมกว่า และเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นทางคือ "การคัดกรองการลงทุน" ที่ย้ายมาประเทศไทยเพื่อหลบเลี่ยงภาษีของประเทศปลายทาง เช่น สหรัฐ ซึ่งทำให้เกิดการนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนจำนวนมากมาดำเนินการเล็ก ๆ น้อย ๆ ในประเทศไทยก่อนจะส่งออกไปปลายทาง ทั้งนี้ การลงทุนที่ทำให้เกิดปัญหาส่วนหนึ่งอาจเป็นการลงทุนที่ได้รับการ "ส่งเสริม" จากรัฐบาลไทยด้วย
ดังนั้น บีโอไอ ควรใช้หลักเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นในการคัดกรองการลงทุนจากต่างประเทศ โดยให้การส่งเสริมเฉพาะโครงการที่สร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยอย่างแท้จริง เช่น สร้างงานรายได้ดีจำนวนมากแก่คนไทย คุ้มค่ากับภาษีที่ยกเว้นหรือลดหย่อนให้
โดยการดำเนินการดังกล่าว จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านการค้า โดยทำให้ประเทศไทยเกินดุลการค้าต่อสหรัฐลดลง สินค้าที่ผลิตในไทยอย่างแท้จริง ไม่ตกเป็นเป้าหมายที่ถูกเก็บภาษีในระดับสูง และช่วยให้ประเทศไม่สูญเสียรายได้ภาษีจากการส่งเสริมการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มเพียงพอ
นอกจากคัดกรองการลงทุนใหม่แล้ว หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรเร่งตรวจสอบและเพิกถอนบัตรส่งเสริมการลงทุนที่ออกไปแล้ว หากพบว่าโรงงานถูกใช้ในการสวมสิทธิ์เพื่อส่งออก ตลอดจนเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานที่ผลิตสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ เช่น เหล็กที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือโรงงานที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอุบัติเหตุโรงงานบ่อยครั้ง
อย่างไรก็ดี แทนที่จะคัดกรอง "สินค้าส่งออก" ไปสหรัฐอย่างเข้มข้นเพื่อประโยชน์ด้านการค้า รัฐบาลควรคัดกรอง "สินค้านำเข้า" มาไทยจากประเทศที่มีประวัติการผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐาน เช่น มีสารตกค้างในระดับสูงและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น ผักและผลไม้จำนวนมากที่ อย. เคยตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน แต่ก็ยังปล่อยให้นำเข้ามาไทยอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน มอก. ที่สร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทยที่ถูกตัดราคาโดยไม่เป็นธรรม
3. ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะอื่น ๆ
รัฐบาลใช้รายงาน National Trade Estimate 2025 ของสหรัฐ ซึ่งประเมินอุปสรรคทางการค้าของไทย เป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดกรอบการเจรจา ซึ่งเป็นสิ่งที่เหมาะสม แต่ยังไม่ได้พิจารณาอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนของไทยในอีกหลายเรื่องที่มีความสำคัญมากที่ระบุในรายงานดังกล่าว รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ ในการลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนของไทยตามที่ระบุในรายงานดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะช่วยในการเจรจากับสหรัฐแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเอง ดังนี้
- ยกเลิกการให้สินบน 30% จากเงินค่าปรับจากการทำผิดกฎหมายศุลกากร ซึ่งเป็นเหตุให้มีกรณีที่เจ้าหน้าที่บางคนแสวงหาผลประโยชน์ในทางไม่ชอบ โดยการยกเลิกสินบนดังกล่าว จะทำให้ระบบศุลกากรของไทยมีความโปร่งใสมากขึ้น และเอื้อต่อการทำธุรกิจของประชาชน
- ทบทวนกฎระเบียบด้านการนำเข้าและส่งออกสินค้าในหมวดปศุสัตว์ ซึ่งถูกสหรัฐตั้งข้อสังเกตมาก และหลายเรื่องก็เป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจไทยเคยร้องเรียน โดยทบทวนให้กฎระเบียบเหล่านั้น อยู่บนพื้นฐานของหลักวิทยาศาสตร์ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากลอย่างแท้จริง ทั้งในส่วนบทบัญญัติและกระบวนการออกกฎระเบียบ เช่น สหรัฐฯ ชี้ว่าไทยประกาศใช้กฎระเบียบ ทั้งที่การรับฟังความคิดเห็นต่อกฎระเบียบนั้นยังไม่เสร็จสิ้น
- เปิดเสรีภาคบริการ โดยเฉพาะบริการโทรคมนาคมให้แก่สหรัฐและประเทศอื่น เพื่อเพิ่มการแข่งขันในสาขาดังกล่าว ซึ่งมีการควบรวมกิจการ ทำให้ค่าบริการแพงขึ้นจากการแข่งขันที่ลดลง และควรปฏิรูปกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่ใช้มานาน โดยเปลี่ยนจากแนวทางที่ให้นักลงทุนต่างชาติประกอบธุรกิจบริการได้เฉพาะที่ระบุไว้ (positive-list approach) มาเป็นการเปิดให้นักลงทุนต่างชาติประกอบธุรกิจบริการได้ทั้งหมด เว้นแต่ที่ระบุห้ามไว้ (negative-list approach)
- ขยายขอบเขตของการลดภาษี และเลิกโควตานำเข้ากับสินค้าอีกหลายรายการ เช่น กาแฟ ซึ่งทำให้ประเทศไทยขาดโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมคั่วเมล็ดกาแฟพันธุ์ดีสำหรับธุรกิจ Specialty Coffee ซึ่งในปัจจุบันต้องนำเข้าเมล็ดกาแฟที่คั่วแล้วจากประเทศในอาเซียนที่สามารถนำเข้าได้อย่างเสรี
"หากรัฐบาลดำเนินนโยบายได้อย่างเหมาะสมตามข้อเสนอข้างต้น ประเทศไทยจะไม่เพียงแก้ไขปัญหาวิกฤติการส่งออกเฉพาะหน้าที่เผชิญอยู่ แต่จะยังสามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในบางด้าน ซึ่งทำได้ยากในสถานการณ์ปกติ แต่สามารถทำได้ในสถานการณ์พิเศษเช่นในปัจจุบัน" นายสมเกียรติ ระบุ