กลุ่มธนาคารใหญ่ปรับตัวลง นำโดย BBL แม้กำไรไตรมาส 1/68 ออกมาดี แต่เจาะดูรายได้หลักกลับอ่อนแอ อีกทั้งเศรษฐกิจไทยคาดเติบโตต่ำรับความเสี่ยงจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมปื ของสหรัฐ และคาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 1 ครั้งในปีนี้
เมื่อเวลา 10.54 น.
BBL ปรับลง 1.71% มาที่ 144.00 บาท ลดลง 2.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 896.21 ล้านบาท
KBANK ปรับลง 1.32% มาที่ 149.00 บาท ลดลง 2.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 855.07 ล้านบาท
SCB ปรับลง 0.43% มาที่ 115.50 บาท ลดลง 0.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 382.57 ล้านบาท
KTB ปรับลง 1.38% มาที่ 21.50 บาท ลดลง 0.30 บาท มูลค่าซื้อขาย 254.34 ล้านบาท
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.พาย กล่าวว่า ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวลงจากก่อนหน้ามีการเก็งกำไรงบไตรมาส 1/68 ซึ่งแบงก์ที่ทยอยประกาศมาบ้างแล้วต่างก็มีกำไรออกมาดี ล่าสุด ธนาคารกรุงเทพ [BBL]กำไรในไตรมาส 1/68 แม้ว่าจะเติบโต 20% แต่เป็นเพราะขายเงินลงทุนเกือบ 3 พันล้านบาท เทียบก่อนหน้ามีการขายเงินลงทุนไม่กี่ร้อยล้านบาท ส่วนรายได้ดอกเบี้ยลดลง นักลงทุนกังวลมาร์จิ้นอ่อนแอมากกว่าที่คาดไว้ ขณะที่คาดว่า กนง.อาจจะปรับดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ จากเดิมคาดไว้ 1 ครั้ง ซึ่งการประชุม กนง.ปลายเดือน เม.ย.นี้หากรอบนี้ไม่ปรับลด เชื่อว่าเดือน พ.ค.ก็น่าจะปรับลง เพื่อให้เงินบาทอ่อนค่าลงจากที่แข็งค่าขึ้นมามากไป
ขณะที่จากมาตรการที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีตอบโต้ทุกประเทศย่อมกระทบกับเศรษฐกิจไทย แม้ว่าสหรัฐจะเลื่อนออกไป 90 วัน แต่ก็ยังเก็บในอัตรา 10% ต่อให้ช่วงนี้อาจเร่งนำเข้าเพื่อสต๊อกไว้แต่ก็คงไม่ได้ดีอย่างรอบแรกที่การส่งออกสูงมากในไตรมาส 1/68 และเมื่อสหรัฐเดินหน้าเก็บภาษีตอบโต้ และเล่นงานจีนไม่เลิกก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน
นายธนเดช กล่าว่า ในไตรมาส 2/68 อาจจะยังไม่เห็นผลกระทบมากนักเพราะสหรัฐเลื่อนออกไป 90 วัน ดังนั้นในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมาก อาจทำให้กลุ่มแบงก์ชะลอตัว แนะให้ Wait & See รอความชัดเจน รอหุ้นปรับฐาน และรอการประชุม กนง.ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยไม่ได้ส่งผลดีต่อกลุ่มแบงก์