ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศภูฏานเปิดเผยว่า รัฐบาลภูฏานกำลังมองหาวิธีทำเหมืองคริปโทเคอร์เรนซีสีเขียวที่ขุดด้วยพลังงานสะอาด เช่น พลังน้ำ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน และลดปัญหาคนรุ่นใหม่อพยพออกนอกประเทศ
อุจจวัล ดีพ ดาฮาล ซีอีโอของบริษัท ดรุก โฮลดิ้ง แอนด์ อินเวสต์เมนต์ จำกัด (Druk Holding and Investments Ltd.) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งของภูฏาน กล่าวว่า ภูฏานเป็นประเทศที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ 100% ดังนั้น ทุกเหรียญดิจิทัลที่ขุดจากเหมืองในภูฏานโดยใช้พลังน้ำ ก็เท่ากับช่วยชดเชยการขุดเหรียญที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
บรรดานักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า เป้าหมายของภูฏานที่จะกลายเป็นศูนย์กลางของคริปโทฯ สีเขียวนั้น จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากระดับปัจจุบันที่ประมาณ 3.5 กิกะวัตต์ ไปสู่ศักยภาพสูงสุดที่ 33 กิกะวัตต์ ขณะที่ดาฮาลกล่าวว่า ภูฏานมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเป็น 15 กิกะวัตต์ในช่วง 10-15 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ภูฏานซึ่งตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยระหว่างสองมหาอำนาจในเอเชียอย่างอินเดียและจีนนั้น สามารถสร้างรายได้หลายล้านดอลลาร์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซียอดนิยมของโลกหลายสกุล โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกรุงทิมพู เมืองหลวงของภูฏานเปิดเผยว่า กำไรบางส่วนนั้นถูกนำไปใช้จ่ายเป็นเงินเดือนข้าราชการได้นานถึง 2 ปี
ดาฮาลกล่าวว่า เหรียญดิจิทัลที่ขุดในภูฏานจะมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว และระบุว่า กองทุนนี้ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการผลิตไฟฟ้าแห่งเดียวของภูฏานได้เริ่มเพิ่มคริปโทเคอร์เรนซีเข้าสู่พอร์ตการลงทุนนับตั้งแต่ปี 2562 โดยมองว่า สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นทั้งการลงทุนทางยุทธศาสตร์และเป็นตัวพลิกเกมเศรษฐกิจของประเทศ โดยภูฏานกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเสนอขายคริปโทฯ สีเขียวเหล่านี้ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ ที่ต้องการตอบโจทย์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
นอกจากนี้ ดาฮาลกล่าวว่า บิตคอยน์ไม่เพียงเพิ่มมูลค่าให้กับพลังงานน้ำเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มการเข้าถึงสภาพคล่องในรูปสกุลเงินต่างประเทศอีกด้วย และการฝึกอบรมคนรุ่นใหม่ของภูฏานให้มีทักษะด้านบล็อกเชนและปัญญาประดิษฐ์ (AI) นั้น จะช่วยสร้างงานในประเทศ
ภูฏานซึ่งมีประชากรราว 8 แสนคนนั้น กำลังเผชิญกับปัญหาคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาพากันอพยพออกนอกประเทศ โดยรัฐบาลประเมินว่าระหว่างปี 2565-2566 มีคนหนุ่มสาวมากกว่า 10% ย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศอื่น ขณะที่อัตราการว่างงานของประชากรในกลุ่มนี้พุ่งขึ้นแตะ 16.5% ในปี 2567