ข้อมูลจาก LSEG ระบุว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นถึง 0.50% ภายในเวลาเพียง 5 วันถึงวันที่ 11 เม.ย.
แรงเทขายจำนวนมากในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐทำให้เกิดความสงสัยไปทั่วโลกว่า ใครอยู่เบื้องหลังแรงเทขายดังกล่าว
จีนถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐราว 760,000 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น
"ผมคิดว่าจีนกำลังใช้พันธบัตรสหรัฐเป็นอาวุธ โดยพวกเขาทำการขายพันธบัตรสหรัฐ และนำรายได้เข้าซื้อสกุลเงินยูโร และพันธบัตรรัฐบาลเยอรมัน ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับข้อมูลที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา" นายเฉิน จ้าว หัวหน้านักวิเคราะห์ของบริษัท Alpine Macro กล่าว
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันอายุ 10 ปีปรับตัวลง ขณะที่มีแรงซื้อเข้าสู่พันธบัตรรัฐบาลเยอรมันในสัปดาห์ที่แล้ว สวนกระแสแรงเทขายในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
*กูรูชี้จีนเทขายบอนด์สหรัฐ ขว้างงูไม่พ้นคอ ทำปืนลั่นใส่เท้าตัวเอง
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายมองว่าการที่จีนเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะสร้างความเสียหายต่อจีนเอง เช่นเดียวกับที่กระทำต่อสหรัฐ
"การเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะลดมูลค่าของพันธบัตรที่เหลืออยู่ ซึ่งหมายความว่าจีนจะขาดทุนจากการถือครองพันธบัตรสหรัฐในพอร์ทการลงทุนของตนเอง " นายมิเชล เพททิส นักวิชาการของ Carnegie ประจำกรุงปักกิ่ง ระบุ
ส่วนนายมิเชล บราวน์ นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Pepperstone กล่าวว่า "การที่จีนเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐก็เหมือนกับการทำปืนลั่นใส่เท้าตัวเอง เนื่องจากหลังการขายพันธบัตรสหรัฐ จะทำให้จีนโยกย้ายเงินทุนกลับประเทศ ซึ่งจะจุดปะทุการแข็งค่าของสกุลเงินหยวน และนี่จะเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับที่จีนต้องการ โดยเฉพาะในยามที่จีนต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และป้องกันผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐ"
*กลุ่มบริษัทประกันชีวิตญี่ปุ่น ผู้ต้องสงสัยอันดับ 2
นอกจากจีนแล้ว ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมากที่สุดในโลก อาจทำการขายพันธบัตรสหรัฐในสัปดาห์ที่แล้ว
"ญี่ปุ่นถือเป็นตัวปัญหาที่ใหญ่กว่า ซึ่งถึงแม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะบอกว่ารัฐบาลจะไม่ขายพันธบัตรสหรัฐ แต่จริง ๆ แล้ว ผู้ที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ไม่ใช่รัฐบาลญี่ปุ่น แต่เป็นบริษัทนิปปอน ไลฟ์ และกลุ่มบริษัทประกันชีวิต ซึ่งหากบริษัทเหล่านี้มีความวิตกเกี่ยวกับการกลับไปกลับมาของนโยบายสหรัฐ และทางบริษัทต้องการลดการถือครองพันธบัตร รัฐบาลญี่ปุ่นก็ไม่สามารถทำอะไรได้" นายแกร์รี อีแวนส์ นักวิเคราะห์จาก BCA Research กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าแรงเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอาจมาจากกองทุนบำนาญของญี่ปุ่นและยุโรป เพื่อหันเข้าซื้อตราสารหนี้ยุโรป รวมทั้งอาจมาจากกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ถูกบังคับขายสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับพันธบัตร