นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อร้องเรียนแพทย์โรงพยาบาลสังกัด กทม. ฉีดยาเกินขนาด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 68 มีผู้ปกครองนำเด็กหญิงวัย 9 ปี เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ด้วยอาการท้องเสียและอ่อนเพลีย และพบความผิดปกติจากการได้รับยาเกินขนาด ทำให้คนไข้รายดังกล่าวมีอาการตาบอด สมองพิการ และนอนติดเตียง สนพ. ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของโรงพยาบาลที่ให้การรักษา ได้ปรึกษาร่วมกันระหว่างทีมแพทย์และพยาบาล แผนกกุมารแพทย์ เพื่อหาแนวทางวินิจฉัยการรักษาอย่างเต็มที่ โดยวางแผนการรักษาเริ่มจากปัญหาหลักของผู้ป่วย เรื่องความบกพร่องของการมองเห็น การเคลื่อนไหว การกลืนผิดปกติ และการพูด มีแนวทางการรักษา ได้แก่ กุมารแพทย์ดูแลด้านโภชนาการ ดูแลป้องกันการติดเชื้อและดูแลสุขภาพทั่วไป จักษุแพทย์ตรวจติดตามกายวิภาคของตาทุก 1-2 เดือน และประเมินการมองเห็นร่วมกับแพทย์กุมารประสาทวิทยา กุมารประสาทวิทยาตรวจติดตามอาการทางระบบประสาทและการตรวจเช็กผลทาง MRI เวชศาสตร์ฟื้นฟูได้เตรียมฟื้นฟูการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ฝึกการกลืน และการฝึกออกเสียงพูด (ด้วยวิธีอรรถบำบัด) ส่วน Hyperbaric Oxygen Therapy (HBO) เป็นการรักษาด้วยออกซิเจน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดในปริมาณที่สูงกว่าปกติ ช่วยฟื้นฟูร่างกาย สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น และแพทย์ทางเลือกด้วยวิธีการฝังเข็ม และ Homeopathy เป็นการรักษาจากการใช้สารที่เป็นสาเหตุของการก่อโรคมาเป็นตัวกำจัดรักษาโรค
สำหรับความคืบหน้าการดูแลรักษาในขณะนี้ ทีมแพทย์ได้ดูแลรักษาต่อจากภาวะหัวใจหยุดเต้นจนสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจและหยุดยากระตุ้นการทำงานของหัวใจได้แล้ว อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนจากสมองขาดออกซิเจน มีปัญหาเรื่องการมองเห็น การเคลื่อนไหว การดูดกลืน และความผิดปกติของการพูด โดยทีมกุมารแพทย์ กุมารแพทย์ประสาทวิทยา จักษุแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพได้ให้การดูแลรักษาและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงเรียนแพทย์ พร้อมประสานงานส่งตัวไปรักษาบำบัดด้วยออกซิเจนภายใต้ความกดบรรยากาศสูงที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ปัจจุบันผู้ป่วยเริ่มมองเห็นสีได้ในระยะใกล้ ส่วนด้านการเคลื่อนไหวเริ่มทรงตัวพยุงให้นั่งได้ ซึ่งทีมแพทย์ได้ประเมินอาการอย่างต่อเนื่องและดูแลอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ โรงพยาบาลได้ประสานให้ข้อมูลการรักษาพยาบาลกับผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้คำแนะนำเรื่องเงินชดเชยตามกฎหมายมาตรา 41 และดูแลเรื่องค่าเดินทางไปตรวจรักษาเพิ่มเติม ค่ายาที่เบิกไม่ได้ และให้เงินช่วยเหลือผู้ปกครองที่ไม่สามารถทำงานได้ ขณะเดียวกันโรงพยาบาลได้ทบทวนมาตรฐานการดูแลคนไข้ และปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก โดย สนพ. ได้หารือร่วมกับทีมทนายอนันต์ชัยและผู้ปกครองของผู้ป่วย เพื่อวางแผนแนวทางการรักษา โดยจะขอความเห็นการรักษาเพิ่มเติมจากทีมแพทย์ผู้เชียวชาญโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อเพิ่มความมั่นใจและให้การรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้แนะนำและจะดำเนินการเรื่องการขอเยียวยามาตรา 41 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อเยียวยาผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขให้กับผู้ปกครองเด็กต่อไป