
กรมอนามัย ลงพื้นที่ตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในศูนย์พักพิง เจเจ มอลล์ จตุจักร กรุงเทพมหานคร และบริเวณศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชนและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ปฏิบัติงานกู้ซากอาคารถล่ม และญาติผู้ประสบภัยที่พักอาศัยภายในศูนย์พักพิงฯ เนื่องจากแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา พร้อมเผยผลตรวจวัดคุณภาพอากาศ พบฝุ่นโลหะหนัก แร่ใยหินอยู่เกณฑ์ปกติ แต่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน แนะ สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ได้ส่งทีม SEhRT กรมอนามัย ลงพื้นที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว เจเจ มอลล์ จตุจักร เพื่อประเมินความเสี่ยง โดยมีการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก บริเวณโดยรอบพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ตึกถล่ม และสำรวจคุณภาพอากาศภายในศูนย์พักพิงฯ ต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ผู้ปฏิบัติงานกู้ซากอาคารถล่ม และญาติผู้ประสบภัย จากเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา นอกจากนี้ กรมอนามัยยังมีความห่วงใยในเรื่องอาหาร และน้ำดื่มของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ จึงได้มอบชุดตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในน้ำและอาหารเบื้องต้นให้กับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่
นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเสริมว่า กรมอนามัย ได้ดำเนินการตรวจวัดคุณภาพอากาศจำนวน 2 จุด คือ จุดแรก ตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในเต็นท์ศูนย์พักพิง (มูลนิธิ กันจอมพลัง) โดยการตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเบื้องต้น (Screening) เมื่อวันที่ 4-5 เมษายน 2568 ได้แก่ PM10 มีค่าอยู่ในช่วง49.1 - 109.1 ?g/m3 สำหรับ PM2.5 มีค่าอยู่ในช่วง 24.2 - 42.9 ?g/m3 และสารอินทรีย์ระเหยรวม (TVOC) มีค่าความเข้มข้นที่ 160 ppb ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่อาจมีบางจุดตรวจวัดที่พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินเกณฑ์มาตรฐานอยู่บ้าง ซึ่งเป็นค่าที่พบได้โดยทั่วไปและอาจต้องมีการเฝ้าระวังในระยะยาว สำหรับจุดที่ 2 ตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป ณ พื้นที่เกิดเหตุ บริเวณหน้าเต็นท์ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ โดยเก็บตัวอย่างอากาศ เพื่อนำไปวิเคราะห์ปริมาณฝุ่นรวม (TSP) และโลหะหนักประกอบด้วย ปรอท (Hg) ตะกั่ว (Pb) แคดเมียม (Cd) ทองแดง (Cu) โครเมียม (Cr) รวมถึงเก็บตัวอย่างอากาศเพื่อวิเคราะห์แร่ใยหิน (Asbestos) ผลการวิเคราะห์พบว่า ปริมาณโลหะหนักในฝุ่นและแร่ใยหินอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่พบปริมาณฝุ่นรวม (TSP) มีค่า 808 ?g/m3 สูงกว่าค่ามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดไว้ไม่เกิน 330 ?g/m3
"ทั้งนี้ จึงได้แจ้งผลแก่ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อประสานการแนะนำให้ผู้ปฏิบัติงานหรือเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานสัมผัสกับฝุ่นอยู่ตลอดเวลา สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ในขณะปฏิบัติงาน เช่น หน้ากากป้องกันฝุ่น N95 แว่นตา หากมีการระคายเคืองทางผิวหนังให้รีบทำความสะอาดร่างกาย และจัดให้มีบริเวณพื้นที่ปลอดฝุ่นเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน สำหรับญาติผู้ประสบภัยที่อาศัยภายในศูนย์พักพิงฯ ควรมีมาตรการป้องกันไม่ให้อากาศที่ปนเปื้อนฝุ่นจากภายนอกเข้ามาภายในเต็นท์พักฯ รวมทั้งแนะนำให้ผู้พักอาศัยภายในศูนย์พักพิงสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว