พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๙๓)

ข่าวทั่วไป Thursday March 20, 2025 13:58 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๙๓) พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร

พ.ศ. ๒๕๖๘ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ

พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๘

เป็นปีที่ ๑๐ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ ในบางกรณี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๗๙๓) พ.ศ. ๒๕๖๘"

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชกฤษฎีกานี้ "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย" หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แล้วแต่กรณี

มาตรา ๔ ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ในการหักภาษี ณ ที่จ่าย และคงจัดเก็บในอัตรา ร้อยละสิบเจ็ดของเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ผู้มีเงินได้ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ ใช้บังคับถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๗๒ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งเมื่อคำนวณภาษีตามมาตรา ๕๐ (๑) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว อยู่ในบังคับ ต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สูงกว่าร้อยละสิบเจ็ดของเงินได้

ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินตามวรรคหนึ่ง เมื่อคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา ๕๐ (๑) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย น้อยกว่าร้อยละสิบเจ็ดของเงินได้ ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธิได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เมื่อผู้มีเงินได้นั้นยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละสิบเจ็ดของเงินได้นั้น

มาตรา ๕ ให้ผู้มีเงินได้ตามมาตรา ๔ ซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้แล้ว ในอัตรา ร้อยละสิบเจ็ดของเงินได้พึงประเมิน เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ในกรณีที่ผู้มีเงินได้ตามมาตรา ๔ มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๔) และ (๘) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา ๕๐ แห่งประมวลรัษฎากรไว้แล้ว และมีสิทธิเลือกเสียภาษีตามมาตรา ๔๘ (๓) และ (๔) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้จะมีสิทธิ ได้รับการยกเว้นตามวรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าในการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ผู้มีเงินได้ มิได้นำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๔) และ (๘) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินได้พึงประเมิน ที่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา ๔ มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยต้องไม่ขอรับเงินภาษี ที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ในการได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ผู้มีเงินได้ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้ พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย

มาตรา ๖ ผู้มีเงินได้ที่จะได้รับสิทธิตามมาตรา ๔ และมาตรา ๕ ต้องมีคุณสมบัติ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทย (๒) มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี (๓) มีประสบการณ์การทำงานในประเทศอื่นที่ไม่ใช่ประเทศไทยไม่น้อยกว่าสองปี (๔) เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อทำงานให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลดังกล่าว ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๘ และมีกำหนดเวลาเริ่มต้นทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๘ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นได้แจ้งการจ้างลูกจ้างดังกล่าวตามแบบที่อธิบดีกำหนดต่อกรมสรรพากรก่อนจ่ายเงินได้ให้ลูกจ้างครั้งแรกของการจ้างแรงงาน โดยผู้มีเงินได้ดังกล่าวจะได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่กรมสรรพากร ได้รับแจ้งจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

(๕) ไม่เคยทำงานในประเทศไทยในปีภาษีที่ได้เริ่มต้นใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ ตามพระราชกฤษฎีกานี้ และไม่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยตามมาตรา ๔๑ วรรคสาม ในสองปีภาษีก่อนหน้าปีภาษี ที่ได้เริ่มต้นใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้

(๖) เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยตามมาตรา ๔๑ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษี ที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ปีภาษีที่เริ่มต้นใช้สิทธิหรือปีภาษีสุดท้าย ที่ใช้สิทธิดังกล่าวอาจไม่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยเช่นว่านั้นก็ได้

(๗) มีคุณสมบัติและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา ๗ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สำหรับเงินได้ เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงาน ให้แก่ผู้มีเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิตามพระราชกฤษฎีกานี้ ที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๗๒ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

เงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่งต้องไม่เป็นเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎหมายอื่นหรือตามพระราชกฤษฎีกาอื่น ที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรนี้

มาตรา ๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

แพทองธาร ชินวัตร

นายกรัฐมนตรี

ที่มา: http://www.rd.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ