รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียซึ่งรวมถึงประเทศไทย กำลังมองหาลู่ทางที่จะซื้อน้ำมันและก๊าซจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และต่างก็คาดหวังที่จะโน้มน้าวให้รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระงับการเรียกเก็บภาษีสินค้าที่ส่งออกไปขายในสหรัฐฯ
ทั้งนี้ หลายประเทศในเอเชียมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นมูลค่าสูงมาก และในขณะเดียวกันประเทศเหล่านี้ก็เป็นผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่ของสหรัฐฯ เช่นกัน
ตัวแทนของหลายประเทศในเอเชียต่างก็มุ่งหน้าสู่กรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อเจรจาภาษีศุลกากรกับสหรัฐฯ โดยแม้ว่าขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ระงับภาษีศุลกากรเป็นเวลา 90 วัน แต่ประเทศในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงไทย ต่างได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวมากที่สุด โดยไทยถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในอัตราสูงถึง 36%
ไทยเป็นประเทศล่าสุดในเอเชียที่กำลังพยายามซื้อพลังงานจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแนวทางดำเนินการของไทย ต่อกรณีนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (16 เม.ย.) ว่า จากการหารือกับบมจ. ปตท. (PTT) นั้น ในเบื้องต้นไทยวางแผนที่จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ เพิ่มเติมอีกกว่า 1 ล้านตันภายในระยะเวลา 5 ปี มูลค่าราว 600 ล้านดอลลาร์ โดยปัจจุบันไทยได้มีการทำสัญญาซื้อขายก๊าซ LNG จากสหรัฐฯ อยู่แล้วปีละ 1 ล้านตัน มูลค่าปีละ 500 ล้านดอลลาร์ ระยะเวลา 15 ปี
นายพิชัยยังกล่าวด้วยว่า ไทยมีแผนที่จะนำเข้าก๊าซอีเทนจากสหรัฐฯ ในปริมาณ 4 แสนตัน มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ ในระยะเวลา 4 ปี ซึ่งถือเป็นการซื้อขายระยะยาว โดยในส่วนนี้ถือเป็นความจำเป็นสำหรับประเทศไทย เนื่องจากก๊าซอีเทน เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปิโตรเคมี และถือเป็นต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าการใช้น้ำมันดิบ ที่แม้ปัจจุบันจะสามารถผลิตได้ในอ่าวไทย แต่ก็ไม่ค่อยเพียงพอแล้ว
นอกเหนือจากไทยแล้ว รัฐบาลอินเดียก็กำลังพิจารณาข้อเสนอให้ยกเลิกภาษีนำเข้าก๊าซ LNG จากสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มการซื้อพลังงานจากสหรัฐฯ อีกทั้งจะช่วยลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญของปธน.ทรัมป์ นอกจากนี้ อินเดียยังมีแผนที่จะยกเลิกภาษีการนำเข้าอีเทนและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) จากสหรัฐฯ ด้วย
ทางด้านปากีสถานกำลังพิจารณานำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก เพื่อชดเชยความไม่สมดุลทางการค้าที่เป็นเหตุให้ถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียก็วางแผนที่จะเพิ่มการนำเข้าพลังงานจากสหรัฐฯ โดยบาห์ลิล ลาฮาดาเลีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า อินโดนีเซียจะยื่นข้อเสนอเพิ่มการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซ LPG จากสหรัฐฯ เป็นมูลค่าราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ในการเจรจาด้านภาษีกับสหรัฐฯ พร้อมกับกล่าวว่า กระทรวงพลังงานอินโดนีเซียได้แนะนำให้เพิ่มโควตาการนำเข้าก๊าซ LPG จากสหรัฐฯ รวมทั้งการนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้อินโดนีเซียสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว