นักวิเคราะห์มองว่า จีนได้เลือกใช้ "แร่หายาก" มาเป็นเครื่องมือต่อรองครั้งใหม่ในการเผชิญหน้ากับมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่พุ่งสูงขึ้น
จีนได้ประกาศเพิ่มแร่หายาก 7 ชนิดเข้าในรายการควบคุมการส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทาง หลังจากก่อนหน้านี้ได้สั่งห้ามส่งออกแร่สำคัญอย่างแกลเลียม เจอร์เมเนียม และแอนทิโมนี ไปยังสหรัฐฯ
สำหรับจีน แร่หายากเปรียบเสมือนอาวุธโลหะขั้นสูงสุด เนื่องจากจีนครองอำนาจควบคุมแทบทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การขุดแร่ การแปรรูป จนถึงการผลิตแม่เหล็กถาวร (permanent magnet) ที่เป็นส่วนประกอบหลักในเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น แล็ปท็อป ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออาวุธทางการทหาร และผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สหรัฐฯ ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะสามารถสร้างห่วงโซ่อุปทานของตนเองขึ้นมาได้
ข้อมูลจากสถาบันวิจัย CRU ระบุว่า จีนเป็นผู้ผลิตแม่เหล็กกำลังสูง (rare earth magnet) ให้กับตลาดโลกถึง 90% ซึ่งตัวแม่เหล็กเองก็ถูกรวมอยู่ในรายการควบคุมการส่งออกเช่นกัน
ทั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า จีนอาจไม่ต้องการปิดกั้นสหรัฐฯ ไม่ให้เข้าถึงแร่หายากของจีนโดยสิ้นเชิง เนื่องจากจีนทำรายได้มหาศาลจากการส่งออกแร่หายากเหล่านี้ ทว่าหากจีนตัดสินใจที่จะจำกัดการส่งออกให้เข้มงวดขึ้นไปอีก ก็อาจสร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างมหาศาลในหลายอุตสาหกรรม