ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (James Webb Space Telescope) ได้พบ "สัญญาณที่ชัดเจนที่สุด" เท่าที่เคยปรากฏถึงความเป็นไปได้ของการมีสิ่งมีชีวิตนอกระบบสุริยะ การตรวจพบครั้งนี้มาจากร่องรอยทางเคมีในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ "K2-18 b" โดยพบก๊าซ 2 ชนิด ได้แก่ ไดเมทิลซัลไฟด์ (DMS) และไดเมทิลไดซัลไฟด์ (DMDS) ซึ่งเป็นก๊าซที่มีเพียงกระบวนการทางชีวภาพเท่านั้นที่สร้างขึ้นได้
บนโลกของเรา ก๊าซทั้ง 2 ชนิดนั้นเป็นก๊าซที่เกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจุลินทรีย์ เช่น แพลงก์ตอนพืชในทะเล หรือสาหร่ายต่าง ๆ ซึ่งบ่งชี้ว่า ดาวเคราะห์ K2-18 b อาจอุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตระดับจุลินทรีย์
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยได้เน้นย้ำว่า พวกเขายังไม่ได้ประกาศการค้นพบสิ่งมีชีวิตโดยตรง แต่เป็นเพียง "สัญญาณบ่งชี้ทางชีวภาพ" (biosignature) ที่อาจเป็นไปได้เท่านั้น ซึ่งบ่งบอกถึงกระบวนการทางชีวภาพ ดังนั้น ผลการค้นพบนี้จึงควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ และจำเป็นต้องมีการสังเกตการณ์เพิ่มเติมเพื่อยืนยัน
ถึงกระนั้น นิกกุ มาธุสุธาน นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากสถาบันดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และผู้เขียนนำของงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Astrophysical Journal Letters กล่าวว่า นี่คือสัญญาณแรก ๆ ที่บ่งชี้ถึงโลกต่างดาวซึ่งอาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่
"นี่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการแสวงหาสิ่งมีชีวิตนอกระบบสุริยะ เราได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การตรวจจับสัญญาณบ่งชี้ทางชีวภาพบนดาวเคราะห์ที่อาจเอื้อต่อการดำรงชีวิตนั้นเป็นไปได้ด้วยเครื่องมือที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน เราได้ก้าวเข้าสู่ยุคของชีวดาราศาสตร์เชิงสังเกตการณ์แล้ว" มาธุสุธานกล่าว
สำหรับดาวเคราะห์ K2-18 b นั้น มีมวลมากกว่าโลกถึง 8.6 เท่า และมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าโลกราว 2.6 เท่า โคจรอยู่ใน "เขตเอื้อชีวิต" (habitable zone) ซึ่งเป็นระยะห่างจากดาวฤกษ์ที่เอื้อให้น้ำคงอยู่ในสถานะของเหลวได้บนพื้นผิว อันเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อสิ่งมีชีวิต ดาวฤกษ์แม่ของ K2-18 b คือดาวแคระแดง ซึ่งมีขนาดเล็กและสว่างน้อยกว่าดวงอาทิตย์ของเรา
ดาวเคราะห์ K2-18 b อยู่ห่างจากโลกออกไปประมาณ 124 ปีแสงในกลุ่มดาวสิงโต (1 ปีแสงคือระยะทางที่แสงใช้เวลาเดินทาง 1 ปี หรือราว 9.5 ล้านล้านกิโลเมตร) นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบดาวเคราะห์อีกดวงโคจรรอบดาวแคระแดงดังกล่าวด้วย
"จากข้อมูลทั้งหมดที่กล้องเจมส์ เว็บบ์ รวบรวมได้จนถึงปัจจุบัน ทั้งจากการสังเกตการณ์ในอดีตและครั้งล่าสุด มีเพียงฉากทัศน์เดียวที่อธิบายทุกอย่างได้ คือ K2-18 b เป็นโลกไฮเชียนที่อาจเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิต" มาธุสุธานกล่าว "แต่ถึงกระนั้น เราก็ยังต้องเปิดใจกว้างและสำรวจความเป็นไปได้อื่น ๆ ต่อไป"
ทั้งนี้ "โลกไฮเชียน" (hycean world) หมายถึงดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ปกคลุมด้วยมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ที่จุลินทรีย์สามารถอาศัยอยู่ได้ และมีชั้นบรรยากาศที่อุดมไปด้วยก๊าซไฮโดรเจน อย่างไรก็ดี ดาวเคราะห์ประเภทดังกล่าวเป็นเพียงสมมติฐานที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งขึ้นเท่านั้น
เมื่อถูกถามถึงความเป็นไปได้ที่จะพบสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ หรือกระทั่งสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญา มาธุสุธานตอบว่า "ณ จุดนี้ เรายังไม่สามารถตอบคำถามนั้นได้ ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นคือมีสิ่งมีชีวิตระดับจุลินทรีย์ที่ไม่ซับซ้อน"
อนึ่ง ก๊าซ DMS และ DMDS ซึ่งมาจากตระกูลเคมีเดียวกัน ได้รับการคาดการณ์ไว้นานแล้วว่าอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ทางชีวภาพที่สำคัญบนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ โดยกล้องเว็บบ์ตรวจพบว่ามีก๊าซชนิดใดชนิดหนึ่ง หรืออาจทั้ง 2 ชนิด อยู่ในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ K2-18 b ด้วยระดับความเชื่อมั่นสูงถึง 99.7% ซึ่งหมายความว่า มีโอกาสเพียง 0.3% ที่ผลการตรวจวัดนี้จะเป็นเพียงความคลาดเคลื่อนทางสถิติ
อย่างไรก็ตาม มาธุสุธานเตือนว่า "ประการแรก เราต้องทำการสังเกตการณ์ซ้ำอีก 2-3 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าสัญญาณที่เราตรวจพบนั้นหนักแน่นจริง และเพื่อเพิ่มระดับนัยสำคัญทางสถิติ" จนถึงจุดที่โอกาสเกิดความผิดพลาดทางสถิติจะต่ำกว่าประมาณหนึ่งในล้าน
"ประการที่สอง เราต้องการการศึกษาเพิ่มเติมทั้งทางทฤษฎีและจากการทดลอง เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีกลไกทางอชีวภาพอื่นใด (หมายถึง ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางชีวภาพ) ที่สามารถสร้างก๊าซ DMS หรือ DMDS ในชั้นบรรยากาศแบบดาว K2-18 b ได้ ถึงแม้การศึกษาก่อนหน้านี้จะชี้ว่าก๊าซเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ทางชีวภาพที่น่าเชื่อถือ แม้แต่สำหรับ K2-18 b เอง แต่เราก็ยังต้องเปิดใจรับและพิจารณาความเป็นไปได้อื่น ๆ"
ดังนั้น ผลการค้นพบนี้จึงยังคงเป็น "เครื่องหมายคำถามใหญ่" ว่าสิ่งที่สังเกตพบนั้นเกิดจากสิ่งมีชีวิตจริงหรือไม่ และ "ไม่มีประโยชน์อันใดที่ใครจะรีบด่วนสรุปว่าเราได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตแล้ว" มาธุสุธานกล่าว